ออกอากาศ : วันที่ 13 กันยายน 2558  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ปวดหลังในผู้สูงอายุ
บทคัดย่อ:

     คนเราเมื่ออายุมากขึ้นก็มักจะเจอกับปัญหาปวดหลัง  จากภาวะกระดูกที่เสื่อมตามอายุอ.นพ.มนต์ชัย  เรืองชัยนิคม ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัดมีวิธีการดูแลตัวเองและหาแนวทางรักษาเพื่อหลุดพ้นจากอาการปวดหลังมาฝาก

     อาการปวดหลังในผู้สูงอายุ มักจะเกิดตามวัย เช่น กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกหลังเคลื่อน หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน ทำให้เส้นประสาทที่หลังได้รับการกระทบกระเทือน กลายเป็นอาการปวดหลังอีกสาเหตุหนึ่งคือ ปวดหลังจากกล้ามเนื้อยอก อักเสบ เส้นยึด และอาการเมื่อย ซึ่งเป็นอาการป่วยที่พบบ่อยที่สุด และมักพบในช่วงอายุ 35-55 ปี ส่วนสาเหตุจากข้อเสื่อมพบมากในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป 

     แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณเตือน  แต่เมื่อใดที่คุณผิดท่าทางทำให้เสียการทรงตัว เช่น การเอี้ยวตัวกะทันหัน การยกของหนัก อาการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังจะเกิดขึ้นง่าย เช่น กระดูกร้าว หมอนรองกระดูกเคลื่อน หากพลาดพลั้งไปจะสร้างความเจ็บปวดอย่างมาก จึงควรหลีกเลี่ยงและไม่ควรทำอย่างยิ่ง

ปัญหาจากอาการปวดจะเห็นได้ว่า ผู้สูงอายุต้องทนทุกข์ทรมาน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตค่อนข้างมาก นอนไม่ค่อยหลับเพราะความเจ็บปวด รู้สึกเบื่ออาหารเพราะอาการเซ็งชีวิต บางคนไม่ยอมขยับเขยื้อน รอให้ลูกหลานช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังมีผลข้างเคียงของการกินยาแก้ปวดด้วย

แนวทางการรักษาโรคปวดหลังในช่วงแรกนี้ มักให้ยาลดการอักเสบ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยต้องลดการใช้งานบริเวณหลัง และระวังตัวเมื่อต้องเคลื่อนไหว 

     ดังนั้นเราจึงควรหาวิธีการป้องกันและดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ คือ การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ พยายามเดินหรือนั่ง ปรับเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ  ให้อยู่ในท่าทางที่ถูกต้องเสมอคือ ให้หลังตรง สำรวจที่นอนว่าไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป หากนุ่มไปเมื่อนอนหงาย หลังจะโก่งและปวดหลัง ถ้าแข็งเกินไป จะทำให้เจ็บปวดบริเวณที่กระดูกนูนออกมา เนื่องจากโดนทับเป็นเวลานาน หากรู้สึกปวดเมื่อยหลัง ให้เอากระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่ปวด วันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 10-20 นาทีทุกวันประมาณ 5-6 วัน อาการจะดีขึ้น แต่หากปวดหลังมาก แนะนำให้ไปพบแพทย์  

     วิธีที่ดีที่สุดเพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานให้กับกระดูกสันหลังก็คือ การดูแลสุขภาพให้ดีด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ มีสุขลักษณะในการขับถ่าย หมั่นออกกำลังกายร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ไม่ควรก้มยกของหนักและระวังการหกล้ม เพราะอาจจะทำให้กระดูกหักยุบได้ ที่สำคัญลูกหลานควรเอาใจใส่ผู้สูงอายุ และให้กำลังใจอยู่เสมอจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้อีกทาง

 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช