ออกอากาศ : วันที่ 12 กรกฎาคม 2558  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: อันตราย! โรคแพ้อาหาร
บทคัดย่อ:

   นับวันโรคแพ้อาหารยิ่งมีอุบัติการณ์สูงขึ้น  ศ.นพ.ปกิต วิชยานนท์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มีความรู้มาฝาก พร้อมประสบการณ์ตรงจากแม่ที่เลี้ยงดูลูกที่แพ้อาหาร

   สำหรับอุบัติการณ์ของโรคแพ้อาหารในประเทศสหรัฐอเมริกาสูงถึง  4-6%  พบได้ในเด็ก 1 ต่อ 20 คน และในผู้ใหญ่ 2 ต่อ 100 คน ส่วนประเทศที่พัฒนาและกำลังพัฒนา พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในเด็ก อาจพบร่วมกับโรคภูมิแพ้อื่นๆ เช่น โรคหืด (asthma) โรคผื่นผิวหนังอักเสบ (eczema) ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต 

   อาหารที่พบบ่อยว่าแพ้มี 8 ชนิด ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง แป้งสาลี ปลา อาหารทะเล ถั่วลิสง และถั่วจากพืชยืนต้น เช่น อัลมอนต์ ฮาเซลนัท วอลนัท มะม่วงหิมพานต์  พีแคน แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ เป็นต้น ในผู้ใหญ่มักพบการแพ้จากอาหารทะเล ส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรง และมีโอกาสหายได้เมื่อโตขึ้น แต่บางรายมีอาการรุนแรงถึงกับเสียชีวิต ที่เรียกว่า “แอนาฟิแล็กซิส” (anaphylaxis) 

   แม้ว่าการแพ้อาหาร  จะเป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ก็มีบางส่วนมาจากกรรมพันธุ์ ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง ควรสังเกตอาการต่างๆ ที่พบได้บ่อย  อาทิ

1. ระบบผิวหนัง ได้แก่ ลมพิษชนิดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง ผื่นผิวหนังอักเสบ บวมรอบปากหรือตา

2. ระบบหายใจ ได้แก่ อาการจมูกอักเสบ (เช่น น้ำมูกไหล คัดจมูก) หลอดลมอักเสบ บวมบริเวณ

กล่องเสียงและหลอดลม หรือหืด (เหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี๊ด) ได้

3. ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการคันปาก คันคอ คันลิ้น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน ถ่ายมีเลือดปน 

หรือลำไส้อักเสบ

4. ระบบหัวใจ ได้แก่ ความดันโลหิตต่ำ ช็อค

5. อาการหลายระบบทั่วร่างกาย (anaphylaxis) ผู้ป่วยจะมีอาการหลายระบบร่วมกัน อาจรุนแรงจนถึง

กับช็อค ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ และเสียชีวิตได้

                หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น แพทย์จะวินิจฉัยโดย

1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย

2. ทดสอบโดยการสะกิดผิวหนัง (skin prick test)    

3. ตรวจสารก่อภูมิแพ้ในเลือด (specific IgE) ควรเลือกตรวจสารก่อภูมิแพ้ในเลือดที่สัมพันธ์กับประวัติและ

อาการผู้ป่วยเท่านั้น   ไม่แนะนำให้ส่งตรวจspecific IgG เนื่องจากไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรคแพ้อาหาร

     4.  ทดสอบโดยให้รับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ (oral food challenge test) ถือเป็นวิธีมาตรฐานในการ

วินิจฉัยโรคแพ้อาหาร แต่เนื่องจากบางรายอาจมีอาการแพ้รุนแรงจากการทำทดสอบได้ ดังนั้นการพิจารณาทำทดสอบนี้ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

    อย่างไรก็ดี ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อาหารสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องระวังเรื่องของอาหารและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพราะสาเหตุของการเกิดโรคก็มาจากตรงนี้ 

 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช