ออกอากาศ : วันที่ 12 เมษายน 2558  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ผิวหนังแข็ง
บทคัดย่อ:

         โรคผิวหนังแข็ง จัดเป็นโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย  ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก  ลักษณะอาการของโรคเป็นอย่างไร  ติดตามได้จาก ผศ.พญ.ปภาพิต  ตู้จินดา  ภาควิชาตจวิทยา

            โรคผิวหนังแข็ง เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยจะสร้างภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อบางชนิดของตนเอง โดยกระตุ้นเซลล์ไฟโบบลาสต์ ให้สร้างสายใยคอลลาเจนเพิ่มมากขึ้นในผิวหนังและอวัยวะภายในอื่นๆ  ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น

อาการโดยทั่วไป  ผู้ป่วยจะมีผิวหนังแข็งตึง ปลายนิ้วซีด หรือเขียวคล้ำ เวลาสัมผัสความเย็น  ผิวหนังจะมีสีคล้ำขึ้น อาจพบจุดสีขาวร่วมด้วย  ลำไส้ดูดซึมไม่ดี   มีพังผืดเพิ่มขึ้นในปอด ทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อย  ข้อยึดติด ในรายที่เป็นไม่มาก  อาจไม่ปรากฏอาการให้เห็น  ทั้งนี้อาการของโรคจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด   แต่เป็นโรคที่ไม่ติดต่อ   ไม่ว่าจากการสัมผัส  หายใจ  หรือรับประทานอาหารร่วมกัน 

            โรคผิวหนังแข็ง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ 1. โรคผิวหนังแข็งเฉพาะที่  พบได้บ่อยในวัยเด็ก  โดยพบผิวหนังแข็งบริเวณปลายมือ ปลายเท้า   2. โรคผิวหนังแข็งทั่วตัว  พบมากในวัยผู้ใหญ่ อายุเฉลี่ย 40 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ผิวหนังและในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ปอด หัวใจ         หลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร และเมื่อเกิดบาดแผลขึ้นที่ปลายนิ้ว แผลจะหายช้ากว่าคนปกติ

            สำหรับการรักษา ปัจจุบันจะเน้นรักษาตามอาการเป็นหลัก  เพื่อลดหรือบรรเทาอาการต่างๆ ลง เช่น ให้ยาที่มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการสร้างและสะสมของตัวเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในอวัยวะต่างๆ  ให้ยาขยายหลอดเลือดเพื่อลดอาการปลายนิ้วซีดเขียวและลดอาการปวด สำหรับผู้ที่กลืนอาหารลำบาก ปวดแสบท้องบริเวณลิ้นปี่ แพทย์จะให้ยาช่วยการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยบางรายสามารถหยุดยาได้เมื่อโรคสงบลง เนื่องจากอาการรุนแรงของโรคไม่เท่ากันในแต่ละราย  แต่ไม่ได้หมายความว่าโรคจะหายขาด จงอย่าท้อแท้และหมดกำลังใจนะคะ  ให้หมั่นดูแลตัวเอง รักษาอาการตามที่แพทย์แนะนำ  เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศเย็นและควรงดสูบบุหรี่  ควรทำกายภาพบำบัดนิ้วมืออย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการติดยึดของ  ข้อ  และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงได้

 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช