ออกอากาศ : วันที่ 15 มีนาคม 2558  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: “ทำอย่างไร..เมื่อหูดับ”
บทคัดย่อ:

         หลายคนคงเคยได้ยินและรู้จักโรคหูดับกันมาบ้างแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าโรคนี้เกิดจากอะไร  มีวิธีป้องกันและรักษาอย่างไร ผศ.พญ.ศิริพร ลิมป์วิริยะกุล ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา มีรายละเอียดค่ะ

         โรคหูดับฉับพลัน หมายถึง การได้ยินลดลงในทันที  ซึ่งผู้ป่วยสามารถสังเกตได้ถึงความผิดปกตินั้น   อาจเพียงเล็กน้อยหรือรุนแรงก็ได้  ที่ทราบสาเหตุ  พบบ่อยคือ ขี้หูอุดตันหรือหูชั้นกลางอักเสบ   และที่ไม่ทราบสาเหตุ  ถือเป็นภาวะเร่งด่วนทางหู  หากมาพบแพทย์ภายใน 2 สัปดาห์หลังมีอาการ  โอกาสที่หายจากโรคจะมีมากขึ้น   

         อย่างไรก็ดี   ชนิดไม่ทราบสาเหตุอาจมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส เช่น มีอาการหวัดนำมาก่อน  การขาดเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในแบบเฉียบพลัน  และมักพบผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ปกติ หรืออาจเป็นที่การเปลี่ยนแปลงความดันอากาศอย่างรวดเร็ว  เช่น   ดำน้ำ  รวมถึงการสัมผัสเสียงดังอย่างฉับพลัน

          ฉะนั้นการหาสาเหตุจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม   เช่น   ตรวจเลือด ตรวจการได้ยิน และตรวจคลื่นสมองดูทางเดินเส้นประสาท  เพื่อวินิจฉัยหาโรคที่มีผลต่อระบบหลอดเลือด เช่น เบาหวาน ไขมันสูง  โรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง หรือเนื้องอกของเส้นประสาทหู แม้จะพบน้อยกว่า 1%  ก็ตาม

          การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่พบ สำหรับหูดับฉับพลันแบบไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จะให้ยาต้านการอักเสบของประสาทหู ทั้งนี้จะหายหรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของประสาทหูเสื่อม  และโรคประจำตัวของผู้ป่วยด้วย  ดังนั้นแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักในช่วงแรก และไม่ออกกำลังกายหักโหม

          แต่ในรายที่ไม่สามารถฟื้นการได้ยินกลับมาเท่าหูข้างปกติ แพทย์จะให้ใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อให้ได้ยินดีขึ้น  รวมถึงการควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในระดับปกติ เช่น เบาหวาน หรือความดัน ก็จะช่วยป้องกันให้อาการคงที่ได้

          อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้ป่วยควรป้องกันไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น ได้แก่ หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีการใช้เสียงดังมาก  หรือการใช้หูฟัง หากเป็นโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต ควรควบคุมโรคให้อยู่ในระดับปกติ และไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากยาบางชนิดมีพิษต่อประสาทหู  รวมทั้งควรหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โอกาสที่จะเป็นก็น้อยลง 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช