สัปดาห์นี้เรายังอยู่กับรายการพบหมอศิริราชที่มาสัญจรพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง อากาศหนาวเย็นอย่างนี้ อ.พญ.รมิดา อมรสิทธิวัฒน์ ภาควิชาชีวเคมี มีคำแนะนำสำหรับผู้สูงอายุมาฝากค่ะ
เมื่ออุณหภูมิของร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอุณหภูมิภายนอกเย็นลง ปกติร่างกายจะตอบสนองด้วยการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างมาก ทำให้มีอาการหนาวสั่นเกิดขึ้น เพื่อทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เกิดความอบอุ่น แต่ผู้สูงอายุจะไม่สามารถตอบสนองให้มีอาการหนาวสั่นได้ดีเหมือนคนหนุ่มสาว
นอกจากนั้นระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหลอดเลือดที่ผิวหนังไม่ให้สูญเสียความร้อนออกจากร่างกายก็เสื่อมลง เมื่อผิวหนังปะทะกับความเย็น หลอดเลือดฝอยจะหดตัว อาจมีผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และอาจกระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจเฉียบพลันได้ ดังนั้นในช่วงนี้จึงควรดูแลร่างกายผู้สูงอายุให้อบอุ่นเป็นพิเศษในระยะต่างๆ ดังนี้
สำหรับการดูแลผู้สูงอายุในเบื้องต้นนั้น ลูกหลานควรให้ความสำคัญตั้งแต่ยังมีสุขภาพดีอยู่ เรียกได้ว่า เป็นการป้องกันในระดับปฐมภูมิ (primary prevention) ซึ่งทำได้ง่าย ๆ เช่น การรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยสวมใส่เสื้อผ้าที่หนา ใช้เครื่องนุ่มห่มให้เพียงพอโดยเฉพาะช่วงกลางคืน หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด เพราะอาจรับเชื้อไวรัสไข้หวัดจากผู้อื่นได้
การป้องกันในระดับทุติยภูมิ(secondary prevention) ถ้าผู้สูงอายุเริ่มแสดงอาการป่วย จะเป็นการป้องกันไม่ให้โรคดำเนินไปจนเข้าสู่ระยะรุนแรง สำหรับผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการครั่นเนื้อ ครั่นตัว ก็ควรเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศเย็น ดื่มน้ำอุ่นเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และถ้าเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูกในผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการดังกล่าว
ส่วนผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วและกำลังได้รับการรักษาอยู่ ก็จะเป็นการป้องกันรักษาในระดับตติยภูมิ (tertiary prevention) โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคในระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการของโรคเดิมรุนแรงขึ้น
หนาวนี้ สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการคงไม่พ้นเครื่องนุ่งห่มที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่ที่ดีกว่านั้นคือ การได้รับความอบอุ่นจากการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลานค่ะ
|