ออกอากาศ : วันที่ 16 พฤศจิกายน 2557  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: แอนติบอดี ยับยั้งไวรัสอีโบลา (EBOLA)
บทคัดย่อ:

         การติดเชื้อไข้เลือดออกอีโบลา  ที่เกิดการแพร่ระบาดถึงขั้นวิกฤตินั้น    ทีมวิจัยศิริราชประสบความสำเร็จ สามารถผลิตแอนติบอดียับยั้งการแพร่กระจายของเชื้ออีโบลา  และวันนี้ ศ.ดร.พญ.รวงผึ้ง  สุทเธนทร์  ภาควิชาจุลชีววิทยา จะมาให้รายละเอียดค่ะ 

แอนติบอดี คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่สร้างจากเม็ดเลือดขาว”ลิมโฟซัยท์บี”   ทำหน้าที่กำจัดเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมที่เป็นพิษออกไป   โดยใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน  หลังจากที่ได้รับเชื้อโรคนั้น  กรณีเชื้อหรือพิษบางอย่างที่ร่างกายได้รับ ทำให้เกิดอาการอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนไม่สามารถสร้างแอนติบอดีได้ทัน  ก็จะทำให้เสียชีวิต  แต่ถ้าสามารถให้แอนติบอดีหรือสร้างภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อโรคได้ทัน  ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและสูญเสียชีวิตลงได้

            สำหรับแอนติบอดีที่ทีมผู้วิจัยค้นพบและผลิตออกมามีคุณสมบัติพิเศษ คือมีขนาดเล็กกว่าแอนติบอดีปกติ คือ เป็นแอนติบอดีสายเดี่ยว ที่สามารถเข้าไปในเซลล์ที่ติดเชื้อได้ เพื่อยับยั้งการทำงานของโปรตีนสำคัญของไวรัส ทำให้เชื้อไม่สามารถเพิ่มจำนวนในร่างกายของผู้ติดเชื้อ  เช่น ถ้ายับยั้งจีพีหนึ่ง ไวรัสก็จะเข้าเซลล์ไม่ได้  ยับยั้งจีพีสอง ไวรัสก็จะออกจากกระเปาะที่หุ้มไวรัสจากนอกเซลล์เข้ามา เพื่อออกไปเพิ่มจำนวนในไซโทพลาซึมไม่ได้ ยับยั้งไวรัสโปรตีน-๓๕ ก็จะทำให้ไวรัสกดภูมิคุ้มกันของโฮสท์และเพิ่มจำนวนไม่ได้ และถ้ายับยังไวรัสโปรตีน-๔๐ ก็จะทำให้ไวรัสที่เพิ่มจำนวนแล้ว ประกอบร่างเป็นไวรัสรุ่นลูกตัวใหม่ไม่ได้และออกจากเซลล์เพื่อแพร่ไปยังเซลล์อื่นต่อไปไม่ได้          

  ขณะนี้ทีมวิจัยได้ทำการผลิตโปรตีนต่างๆ ของไวรัสอีโบลาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ด้วยการใช้ยีนสังเคราะห์ที่เป็นยีนของไวรัสอีโบลา ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากธนาคารพันธุกรรม ผ่านขั้นตอนทางห้องปฏิบัติการ   ซึ่งยีนสังเคราะห์นี้จะไม่เป็นอันตรายต่อทีมนักวิจัย  และผลที่ได้คือ  แอนติบอดีจำเพาะต่อโปรตีนของไวรัสอีโบลา ที่เป็นแอนติบอดีของมนุษย์  สามารถนำมาใช้ได้อย่างปลอดภัย   

            ทั้งนี้ ทางองค์การอนามัยโลก ได้แสดงความยินดีกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่คิดค้นแอนติบอดีรักษาอีโบลาได้สำเร็จ และให้ความร่วมมือในการนำไปทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อไวรัสอีโบลาที่ห้องปฏิบัติการ BSL-4 ของ NIH ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนนำมาใช้กับผู้ป่วยจริง พร้อมกับการจดสิทธิบัตร     ทั้งในและต่างประเทศ  ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีประโยชน์และสามารถเปลี่ยนแปลงการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสเชื้ออีโบลาได้ถือเป็นความภาคภูมิใจสำหรับนักวิจัยของไทย ที่ประสบความสำเร็จและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการรักษาจนเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช