ออกอากาศ : วันที่ 9 เมษายน 2549 เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 |
เรื่อง:
|
อย่างไรถึงเรียกว่าโรคอารมณ์ 2 ขั้ว |
บทคัดย่อ:
|
โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ ที่ผู้ป่วยจะมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน 2 แบบ คือ บางช่วงมีอารมณ์และพฤติกรรมซึมเศร้า บางช่วงจะมีลักษณะคึกคักพลุ่งพล่าน ซึ่ง เรียกว่า เมเนีย โรคดังกล่าวมีโอกาสเป็นได้ทั้งชายและหญิง ช่วงที่พบบ่อย คือ วัยผู้ใหญ่ตอนต้น ผศ.พญ.สุทธิพร เจณณวาสิน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ อธิบายว่า คนทั่วไปมักเข้าใจว่า โรคอารมณ์สองขั้วเกิดจากจิตใจอ่อนแอหรือคิดฟุ้งซ่าน แต่แท้จริงแล้วเกิดจากความผิดปกติทางสมอง โดยการทำงานของสมองและสารเคมีในสมองของผู้ป่วยซึ่งทำหน้าที่สื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทแปรปรวนไป ผู้ที่มีอาการของโรคอารมณ์สองขั้วจะแสดงออกทั้งทางด้านอารมณ์ ความคิด พฤติกรรม โดยในระยะซึมเศร้า จะรู้สึกเบื่อหน่าย มองสิ่งต่าง ๆ ในแง่ลบ อารมณ์อ่อนไหวง่าย หงุดหงิดและเก็บตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะมีอาการเปลี่ยนไปอีกขั้วหนึ่ง คือ คึกคักหรือหงุดหงิดมั่นใจในตัวเองมากขึ้น พูดมาก ความคิดแล่นเร็ว ทำอะไรมากขึ้น แต่มักไม่ดี หรือไม่เสร็จเพราะสมาธิสั้น ยับยั้งชั่งใจตัวเองไม่ได้ จนอาจทำ เรื่องเสี่ยง เช่น ใช้จ่ายมาก ขับรถเร็ว ทะเลาะกับผู้อื่น ทั้งนี้ อาการในระยะซึมเศร้าจะเกิดขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ระยะเมเนียจะเกิดรวดเร็วและมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าไม่ได้รับการรักษา โรคนี้รักษาได้ด้วยการใช้ยา โดยแพทย์จะให้ยาร่วมกับการช่วยเหลือให้คำปรึกษาทางจิตใจเพื่อช่วยผู้ป่วยในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมและจัดการปัญหาชีวิต ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อประเมินผลการรักษาตลอดจนผลข้างเคียงจากยา และอาจมีการปรับยาเป็นช่วง ๆ ตามแต่อาการของโรค |
|
กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช
|