ออกอากาศ : วันที่ 20 กรกฎาคม 2557  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: วิธีกระตุ้นการรู้คิด
บทคัดย่อ:

         เมื่อผู้สูงอายุของท่านมีภาวะสมองเสื่อม  เราควรกระตุ้นการรู้คิด  เพื่อให้เกิดการดูแลที่ถูกต้องและเหมาะสม ติดตามได้จาก รศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม     
ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ   มักเกิดจากการสูญเสียในด้านการรู้คิดของสมอง  ภาวะเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนในครอบครัวที่ต้องดูแล
         โดยทั่วไปการดูแลรักษาโรคสมองเสื่อมมีหลายด้าน ทั้งด้านการรู้คิด ความจำ พฤติกรรมและอารมณ์   ซึ่งการดูแลด้านการรู้คิดและความจำนั้น สามารถทำได้โดยใช้ยาและไม่ใช้ยาควบคู่กัน   วิธีที่ไม่ใช้ยา ได้แก่ การกระตุ้นการรู้คิดและความจำด้วยกิจกรรมต่างๆ   
         การกระตุ้นการรู้คิด (cognitive stimulation) หรือการฝึกสมอง (mental exercise) เพื่อให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมได้ทำกิจกรรมที่มีความสนุกสนาน  เป็นการกระตุ้นการคิดอ่าน สร้างสมาธิ และความจำ โดยการทำกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ  ร่วมกับผู้ป่วยรายอื่น ๆ  เช่น การพูดคุยถึงเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบัน  ซึ่งจะพูดคุยในหัวข้อที่ผู้ป่วยสนใจ  จัดกิจกรรมการเล่นเกมส์ทายคำ เกมจับคู่ภาพ  การต่อจิ๊กซอว์  หรือกิจกรรมด้านศิลปะ เช่น การวาดรูป ระบายสี  ร้องเพลง เต้นรำ เป็นต้น ซึ่งการเลือกกิจกรรมต้องขึ้นกับความชอบของผู้ป่วยและความเหมาะสมกับสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย  โดยใช้เวลาประมาณ   45   นาที ทำเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ  2  ครั้ง
        การกระตุ้นการรู้คิดนี้ มีประโยชน์ต่อความจำและกระบวนการคิด   ช่วยให้สามารถสื่อสารและตอบสนองกับผู้อื่นได้ดี โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมในระยะแรกถึงระยะปานกลางได้เป็นอย่างดี  
ในช่วงรักษ์สุขภาพ    มีข้อดีของการฝึกวิธีกระตุ้นการรู้คิดให้กับผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมมาให้ชม  โดยทั่วไปกิจกรรมต่าง ๆ จะต้องดำเนินการโดยผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมมาก่อน   ซึ่งท่านที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมสามารถเข้ารับการฝึกอบรมการทำกิจกรรมกระตุ้นการรู้คิด   ให้ผู้ดูแลได้เข้าใจถึงวิธีการที่ถูกต้อง และนำไปปฏิบัติเองเมื่ออยู่บ้าน เพราะถ้ามีการฝึกฝนเป็นประจำจะช่วยให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ที่สำคัญยังช่วยให้การดูแลง่ายขึ้นด้วย

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช