ออกอากาศ : วันที่ 13 กรกฎาคม 2557  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: การประเมินผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม
บทคัดย่อ:

             วิธีประเมินผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมนั้น   สำคัญและจำเป็นมากน้อยแค่ไหน   ติดตามได้จากรศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม                                
            ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม  ต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ผู้ดูแลในเบื้องต้น เนื่องจากบ่อยครั้งที่ญาติของผู้ป่วยมักเข้าใจว่า ปัญหาเรื่องความจำและการช่วยเหลือตนเองลดลง เกิดจากธรรมชาติของผู้สูงอายุ  จึงไม่ได้ปรึกษาแพทย์ ทั้งที่ความจริงอาจเกิดจากภาวะสมองเสื่อม ข้อมูลที่เกี่ยวกับประวัติของผู้ป่วย ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการใช้วินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม แพทย์จึงจำเป็นต้องซักประวัติ การเปลี่ยนแปลงของความจำ พฤติกรรม และอารมณ์จากผู้ดูแลใกล้ชิดหรือญาติที่อยู่ด้วยกันกับผู้ป่วยที่สามารถให้ข้อมูลอย่างถูกต้องและเชื่อถือได้

                นอกจากนี้มีการตรวจร่างกาย ประเมินความจำและการรู้คิด โดยการทดสอบทางจิตประสาท รวมทั้งต้องประเมินความสามารถในการทำงานและการช่วยเหลือตนเองของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมต้องมีความสามารถเหล่านี้ลดลงจากระดับเดิม เช่น ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน   การรับประทานอาหาร   อาบน้ำ การใส่เสื้อผ้า  การเคลื่อนย้ายร่างกาย การควบคุมการขับถ่าย การใช้ห้องสุขา การล้างหน้าแต่งตัว  และความสามารถในการทำกิจวัตรที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การใช้โทรศัพท์  การทำงานบ้าน  การเดินทางออกนอกบ้าน การจัดยา และการใช้เงิน ทั้งนี้ต้องเปรียบเทียบกับระดับความสามารถเดิม  และต้องซักถามถึงเหตุผลที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง เนื่องจากบ่อยครั้งเกิดจากการที่มีปัญหาด้านร่างกาย  ไม่ใช่จากภาวะสมองเสื่อม  ที่ทำให้ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยจำกัดกิจกรรม เช่น ในกรณีที่สายตาไม่ดี  ปวดข้อ  หรือแขนขาอ่อนแรง อารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งไม่ได้เกิดจากภาวะสมองเสื่อม  ส่งผลถึงการดูแลที่แตกต่างกันระหว่างผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมและเริ่มมีภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้เกิดความชัดเจน  ควรมาพบแพทย์  เพื่อประเมินภาวะสมองเสื่อมและให้การดูแลที่ถูกต้อง 

             ในช่วงรักษ์สุขภาพ มีกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นความจำและสมาธิมาฝาก นั่นคือ  การเต้นลีลาศ รำไม้พลอง  ไท้ชิ  หรือกิจกรรมเข้าจังหวะ  เป็นการกระตุ้นความจำและสมาธิได้ดี  เนื่องจากต้องจดจำทั้งท่าเต้น และจังหวะของเสียงดนตรี  เกิดความต่อเนื่องของการจำและมีความสุขจากเสียงดนตรี รวมถึงการมีส่วนร่วมในสังคมด้วย

 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช