ออกอากาศ : วันที่ 15 มิถุนายน 2557  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: NCD โรคไม่ติดต่อ
บทคัดย่อ:

         “องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตของคนใน ปัจจุบันทั่วโลก  เกิดจากกลุ่มโรคเรื้อรังNCD มากถึง 68 %”  ผศ.ดร.พญ.มยุรี  หอมสนิทภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม กล่าว

           NCD ย่อมาจาก Non Communicable Disease หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อ  โรคกลุ่มนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่สำคัญและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในคนส่วนใหญ่ ได้แก่ โรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตอย่างไม่เหมาะสม ทั้งในการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย ร่วมกับความเสื่อมของร่างกายตามอายุ ซึ่งทำให้เกิดโรคเรื้อรัง  เช่น โรคเบาหวาน  โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน  มะเร็ง โรคเหล่านี้อาจนำไปสู่โรคที่รุนแรงยิ่งขึ้น เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตเรื้อรัง และโรคสมองเสื่อมจากสาเหตุต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตแย่ลง มีความพิการ หรือแม้แต่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

           จากรายงานขององค์การอนามัยโลก พ.ศ.2551 (ไม่แตกตางจากสถานการณ์ปัจจุบันมากนัก)  มียอดผู้เสียชีวิต 57 ล้านคน ปรากฏว่า 36 ล้านคน หรือ 63% เกิดจากโรคที่ไม่ติดต่อ  อันดับ 1 คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ (48% หรือ 17.28 ล้านคน) โรคมะเร็ง (21% หรือ 7.6 ล้านคน) โรคระบบหายใจเรื้อรัง (12% หรือ 4.2 ล้านคน) และโรคเบาหวาน (ที่เป็นสาเหตุโดยตรง 3.5% หรือ 1.3 ล้านคน) ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดมาจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่   การไม่ออกกำลังกาย  การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์มากไป

           และจากพฤติกรรมยังเป็นที่มาของโรคความดันโลหิตสูง  ทำให้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 16.5% ของทั่วโลกจากการสูบบุหรี่ และจากน้ำตาลในเลือดสูง 9% การไม่ออกกำลังกาย 6% และน้ำหนักเกิน 6% หรือภาวะอ้วนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 5% อีกด้วย       

          จากสถิติจะเห็นได้ว่า คนทุกวัยมีสิทธิ์ที่จะเป็น   แต่โรคเรื้อรังกลุ่มนี้มักพบในผู้สูงอายุ   ที่มีการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การสูบบุหรี่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ล้านคนทุกปี  รวมถึงผู้ที่เสียชีวิตจากการสูดควันบุหรี่จากผู้อื่น และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น  8 ล้าน    นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิต 3.2 ล้านคน จากการที่ออกกำลังกายไม่เพียงพอ  มีผู้เสียชีวิต 2.5 ล้านคน จากการดื่มแอลกอฮอล์ 1.7 ล้านคน เสียชีวิตจากการรับประทานผลไม้และผักน้อยไป   

           ปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยกลุ่มโรค NCD ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ  ซึ่งเราพิจารณาจากน้ำหนักตัวของประชากร ที่อยู่ในเกณฑ์เกินมาตรฐานมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดกลุ่มโรค NCD

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช