ออกอากาศ : วันที่ 8 มิถุนายน 2557  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: เครื่องมือรักษานอนกรน
บทคัดย่อ:

         “การรักษาผู้ที่มีอาการนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ  มีด้วยกันหลายวิธีและหนึ่งในนั้นคือการใช้เครื่องมือในรูปแบบต่างๆ”   รศ.นพ.ปารยะ   อาศนะเสน  ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา  กล่าว

  การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรน  มีตั้งแต่การควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  รวมถึงการรักษาด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมือทางทันตกรรม  และสุดท้ายคือการผ่าตัด 

      ในกรณีของผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรน  และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์แล้วยังไม่ได้ผล  การรักษาในลำดับต่อมาคือการใช้เครื่องมือ  เช่น  เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า และเครื่องมือทางทันตกรรม  ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้กับผู้ป่วย

      ปกติผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรน  เวลานอน เพดานอ่อน และลิ้นไก่ที่ยาว รวมถึงโคนลิ้นที่โต  มักจะตกลงมาปิดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน  ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ  เครื่อง CPAP (continuous positive airway pressure)  ซึ่งเป็นเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า  จะเป่าลมเข้าไปถ่างทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างออก  ทำให้ไม่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ  การใช้เครื่อง CPAP ในช่วงแรกอาจรู้สึกอึดอัดบ้าง เพราะต้องใส่ๆ ถอดๆ   เมื่อชินก็จะใส่ได้เอง   ผู้ป่วยควรใช้ทุกคืน   ถ้าไม่ใช้ ก็จะมีอาการกรนหรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอีก 

    นอกจากจากเครื่อง CPAP แล้ว  ยังมีเครื่องมือทางทันตกรรมที่ใช้รักษา โดยผู้ป่วยใส่เครื่องมือไว้ในปากเวลานอน  เมื่อผู้ป่วยนอนหงาย ขากรรไกรล่างและลิ้นจะหย่อนลงมา  ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนแคบ  เครื่องมือนี้จะช่วยยึดขากรรไกรบนและเลื่อนขากรรไกรล่างมาทางด้านหน้า ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้นในขณะที่นอนหลับ

    การรักษาผู้ป่วยนอนกรน หรือมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับด้วยเครื่องทั้ง 2 ชนิดนี้  จะช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างต่อเนื่อง  ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับที่ดีของผู้ป่วย   

      เครื่องมือเหล่านี้  ถือเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยนอนกรน เพื่อบรรเทาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อย่างไรก็ดี   ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ  ควรออกกำลังกายที่ทำให้      หัวใจเต้นเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่องกัน เช่น วิ่ง  เดินเร็ว ว่ายน้ำ  ขี่จักรยานฝืด  อย่างน้อยสัปดาห์ละ   3  วันๆ ละ  30  นาที  จะช่วยเพิ่มความตึงตัวให้กับกล้ามเนื้อบริเวณคอหอยไม่ให้หย่อนลงมาอุดกั้นทางเดินหายใจ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช