“โรคที่เกิดจากการนอนหลับมีทั้งหมด 8 กลุ่มด้วยกัน แต่มีอยู่ 2 กลุ่ม ที่พบได้บ่อย คือ โรคนอนไม่หลับ และโรคนอนกรนหยุดหายใจ” อ.พญ.พิมล รัตนาอัมพวัลย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ กล่าว
สิ่งที่จะเป็นปัญหาตามมาของโรค 2 กลุ่มนี้คือ การหายใจที่ไม่ปกติ ทำให้ร่างกายตอบสนองด้วยการพยายามที่จะตื่นขึ้นมาเพื่อหายใจเป็นพัก ๆ ข้อดีคือ เราสามารถที่จะกลับมาหายใจใหม่ได้ แต่ข้อเสียคือ การนอนของเราไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้การนอนหลับไม่ลึกเพียงพอ ร่างกายไม่สดชื่น สมองไม่ปลอดโปร่ง
ยิ่งกว่านั้นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นคือ เรื่องของระบบหายใจและหลอดเลือด เพราะการที่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จะทำให้หัวใจและหลอดเลือดต้องทำงานหนัก เกิดภาวะความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดสมองแตก รวมไปถึงโรคหัวใจโตและเส้นเลือดหัวใจตีบได้
ซึ่งการนอนที่ดี ต้องได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ ถ้าเราคิดว่า คุณภาพการนอนของเรายังไม่ดีพอ ทั้งที่เรานอนวันละ 7 - 8 ชั่วโมงแล้ว ก็ยังรู้สึกไม่สดชื่น เราอาจจะต้องไปปรึกษาแพทย์ว่า สิ่งที่เป็นปัญหาระหว่างการนอนหลับนั้นคืออะไร
ก่อนจะไปถึงการรักษา แพทย์จะส่งตรวจการนอนหลับของคนไข้ในขณะหลับ ซึ่งจะต้องพักอยู่ที่โรงพยาบาล 1 คืน โดยเจ้าหน้าที่จะติดอุปกรณ์และตรวจสอบสัญญาณต่าง ๆ เช่น การหายใจ คลื่นหัวใจ ออกซิเจน คลื่นสมอง เพื่อที่แพทย์จะนำผลวินิจฉัยนี้มาประกอบการรักษา
จริงๆ แล้ว นอนกรน เป็นภาวะที่พบบ่อยมาก การนอนกรนในบางรายก็ไม่ได้รุนแรงจนกระทั่งเกิดภาวะที่เรียกว่า หยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น แต่ถ้าใครมีลักษณะของการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ เสียงกรนมีการขาดช่วงไป แล้วมีเสียงดังครอกขึ้นมาครั้งใหญ่ เหมือนการขาดอากาศเฮือกใหญ่ หรือในกรณีที่เราคิดว่านอนพอแล้ว แต่ร่างกายกลับฟ้องว่า เรายังนอนไม่เต็มอิ่ม เช่น ตื่นเช้าขึ้นมา รู้สึกมึนศีรษะ ง่วงนอน อยากจะนอนต่อ มีการผล็อยหลับโดยไม่ได้ตั้งใจ สมาธิและความจำมีปัญหา ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง จะได้รับการรักษาตามสาเหตุ
|