ออกอากาศ : วันที่ 18 พฤษภาคม 2557  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: รับมือภาวะเพลียแดด ลมแดด 2
บทคัดย่อ:

เรื่องของอาการเพลียแดด ลมแดด ที่มาพร้อมกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว ที่ต้องรับมือกันอย่างต่อเนื่อง ผศ.นพ.พิสิฏฐ์  เลิศวานิช ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด กล่าวว่า สิ่งที่เราสามารถปรับตัวเพื่อสู้กับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น  เริ่มตั้งแต่ภายในบ้าน ไม่ควรร้อนอบอ้าว  ระบายความร้อนด้วยการเปิดพัดลมส่ายไปส่ายมา เพื่อไล่อากาศร้อนๆ ในห้อง   และเปิดหน้าต่าง  เพื่อให้ลมร้อนในห้องมีทางระบายออกไป 

           ถ้าห้องอยู่ในทิศที่แดดส่องโดยตรง ก็ควรจะหาผ้าม่านหรือแผ่นฟิล์มกรองแสงมาปิดกันแสงแดด  เพื่อป้องกันไม่ให้ห้องร้อนมากเกินไป

           การหลั่งเหงื่อเป็นกลไกการลดความร้อนของร่างกายที่สำคัญที่สุด การดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละประมาณ   2-3 ลิตร ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันการขาดน้ำ  ในภาวะที่มีการเสียเหงื่อมาก เช่น การออกกำลังกายต่อเนื่องกันนาน ๆ อาจดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชย แต่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของชา กาแฟ  จะทำให้ร่างกายเราสูญเสียน้ำมากขึ้น  

           และถ้าจะต้องออกไปเผชิญกับแสงแดดและความร้อนนอกบ้าน  เริ่มแรกต้องเลือกเสื้อผ้าที่มีลักษณะโปร่งบาง  ระบายอากาศได้ดี  หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าหนา ๆ    ที่มีสีเข้ม   เพราะจะทำให้ดูดซับความร้อนไว้ได้มาก  

ก่อนออกจากบ้านควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF  สูงกว่า 15 ซึ่งจะช่วยป้องกันผิวหนังจากรังสียูวีได้ดีกว่า  รวมถึง

การอาบน้ำหลังจากทำกิจกรรมกลางแดด  เป็นเทคนิคการคลายความร้อนที่ดีอีกอย่างหนึ่ง และช่วยให้รู้สึกสดชื่นดีทีเดียวครับ

             ส่วนนักกีฬาที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในสภาพอากาศร้อนจัดต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน  หากเป็นไปได้ควรพักเข้าร่มบ้าง ในการแข่งขันที่มีคนจำนวนมาก ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในส่วนกลางของกลุ่มคน  เพราะจะได้รับรังสีความร้อนที่กระจายมาจากคนอื่น     และการถ่ายเทของอากาศไม่ดี 

ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ ไม่ควรรอจนรู้สึกกระหายน้ำ และไม่ควรเล่นกีฬาในขณะที่เป็นไข้

              สำหรับผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย  เด็กเล็ก  และผู้มีโรคประจำตัว  ควรระมัดระวังเรื่องการเจ็บป่วยจากสภาพอากาศร้อน  ในแต่ละวันควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช