ออกอากาศ : วันที่ 11 พฤษภาคม 2557  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: รับมือภาวะเพลียแดด ลมแดด
บทคัดย่อ:

ด้วยอุณหภูมิที่ร้อนแรงขึ้นจากสภาพอากาศ อาจส่งผลต่อสภาพร่างกาย  ผศ.นพ.พิสิฏฐ์  เลิศวานิช ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด กล่าวว่า  ภาวะเพลียแดด และลมแดด เป็นการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวสู้กับสภาพอากาศที่ร้อนจัดได้

            โดยปกติแล้วร่างกายคนเรามีอุณหภูมิ ประมาณ 36 - 37 องศาเซลเซียส ในภาวะเพลียแดด ร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังไม่ถึง 40  องศาเซลเซียส อาจทำให้เกิดอาการเพลียแดด  โดยจะมาพร้อมกับอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้  อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง แต่ยังรู้สติดีอยู่  ส่วนโรคลมแดด เป็นภาวะการเจ็บป่วยจากความร้อนที่รุนแรงที่สุด โดยมีอุณหภูมิสูงเกิน  40 องศาเซลเซียส   ร่วมกับมีอาการทางสมอง เช่น หมดสติ พูดจาสับสนหรือชัก หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที สามารถทำให้เกิดตับและไตวายหรือเสียชีวิตได้

ภาวะนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ถูกแดดจัด  หรืออยู่ในที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน  แต่ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเพลียแดด ลมแดด ได้ง่ายขึ้น กลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความร้อนได้ไม่ดีนัก  คือ   เด็กเล็ก  ผู้สูงอายุ   ผู้ที่ติดเหล้า  ผู้ที่

รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาเสริมธัยรอยด์ ยาแก้แพ้ ยาทางจิตเวช   อีกกลุ่มหนึ่งที่ความเสี่ยงคือ นักกีฬาที่เล่นกีฬาในสภาพอากาศที่ร้อนจัด เพราะมีความร้อนจากภายในร่างกายที่เกิดผลิตจากกล้ามเนื้อระหว่างการออกกำลังกายด้วย

วิธีการปฐมพยาบาล สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การลดระดับความร้อนของร่างกายให้เร็วที่สุด นำผู้ป่วยเข้าสู่ที่ร่ม ที่อากาศถ่ายเท คลายหรือถอดเสื้อผ้าออกตามความเหมาะสม จัดผู้ป่วยนอนราบ ยกขาสูง อาจหาพัดลมเปิดเป่าตัวผู้ป่วย  ใช้การเช็ดตัวหรือประคบเย็นด้วยผ้าชุบน้ำเย็น หรือถุงน้ำแข็ง ในส่วนคอ ลำตัว แขน ขา และข้อพับต่าง ๆ ในผู้ป่วยที่ยังรู้ตัวดีอยู่  อาจให้ดื่มน้ำเย็นได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นเมื่ออุณหภูมิกายลดลง หากผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัว สับสน หรือชัก ควรขอความช่วยเหลือ นำส่งโรงพยาบาล

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช