ออกอากาศ : วันที่ 13 เมษายน 2557  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: อาหารเป็นพิษ โรคฮิตหน้าร้อน
บทคัดย่อ:

         ในช่วงหน้าร้อนนี้  อาหารเป็นพิษ  ถือเป็นโรคที่ฮิตที่สุด  เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียนั้นเจริญเติบโตได้ดี            มีผลทำให้อาหารบูด เสียได้ง่าย ดังนั้นการรับประทานอาหารจึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษ

ผศ.นพ.ธีระ  กลลดาเรืองไกร ประธานศูนย์พิษวิทยาศิริราช ให้ข้อมูลว่า อาหารที่รับประทานเข้าไปจะช่วยสร้างพลังงานให้กับร่างกาย แต่การรับประทานอาหารตามใจตัวเอง รวมถึงการมองข้ามคุณค่าทางโภชนาการ อาจตามมาด้วยโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งอาจเกิดจากการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหาร  โดยเฉพาะช่วงที่อากาศร้อน ต้องระวัง อย่าเผลอไปรับประทานอาหารที่ปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารประเภทปิ้ง ย่าง ที่นิยมรับประทานกัน  ก็ควรปิ้งให้สุก   อาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิสด ก่อนรับประทาน ควรพิจารณาให้ดี เพราะเป็นอาหารที่บูดง่าย   ถ้าสังเกตเห็นฟองขึ้น ห้ามรับประทานเด็ดขาด  ส่วนอาหารที่ทำในปริมาณมาก เช่น อาหารถุง  หรืออาหารกล่อง ต้องรับประทานภายใน 4 ชั่วโมง ถ้าเริ่มได้กลิ่นตุ ๆ ก็ไม่ควรรับประทาน  รวมถึงอาหารที่ค้างคืน ต้องอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง อาหารแห้งและของหมักดอง  ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรรับประทาน  เนื่องจากคุณค่าทางโภชนาการนั้นค่อนข้างต่ำและเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ง่าย  อีกเรื่องที่ควรใส่ใจ คือ น้ำแข็งที่ใช้รับประทานกับน้ำดื่ม  กับน้ำแข็งที่แช่อาหารสด  ไม่ควรใช้ร่วมกัน   และที่ผู้คนชื่นชอบในหน้าร้อน  คือ  ไอศกรีม  ควรระวังหากตู้เย็นแช่โดนถอดปลั๊กแล้วละลาย หรือเปิดตู้เย็นบ่อย ทำให้อุณหภูมิภายในตู้เย็นไม่คงที่  ส่งผลให้บูดเน่าได้   นอกจากนี้การรับประทานผักสดและผลไม้  ต้องแน่ใจว่าผ่านการล้างอย่างสะอาดแล้ว

สิ่งสำคัญ  ผู้ปรุงอาหารควรตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันอันตราย ที่อาจเกิดจากอาหาร          เป็นพิษ ด้วยการรักษาความสะอาดทุกขั้นตอนของการปรุงอาหาร  ส่วนสุขอนามัยที่ทุกคนควรปฏิบัติคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร และทุกครั้งหลังออกจากห้องน้ำ  

            แต่หากมีอาการท้องเสีย เนื่องจากอาหารเป็นพิษ  ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากที่รับประทานอาหารที่ปนเปื้อน เชื้อโรคไปแล้วประมาณ 6-12 ชั่วโมง  ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากการถ่ายอุจจาระ  สิ่งที่ควรทำในเบื้องต้นคือ  นำผงเกลือแร่ละลายน้ำ แล้วดื่มเพื่อป้องกันการขาดน้ำ   ห้ามรับประทานยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ทำให้เป็นอันตรายมากขึ้น

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช