ออกอากาศ : วันที่ 19 มีนาคม 2549  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: การป้องกันปัญหาจากการใช้ยาในผู้สูงอายุ
บทคัดย่อ:     เมื่อคนเราอายุมากขึ้น มักมีโรคประจำตัวหลายชนิด  ทำให้มีความจำเป็นต้องได้รับยาหลายชนิดไปด้วย  ฉะนั้นข้อควรปฏิบัติเพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัยจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ผศ.นพ.วีรศักดิ์  เมืองไพศาล  ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม อธิบายว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้สูงอายุมักได้รับยา 4 - 5 ชนิดตามแพทย์สั่งและอีก 2 ชนิดจากการซื้อหามาเอง ปัญหาผลข้างเคียงจากการใช้ยาในผู้สูงอายุเป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงอายุต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ถึงร้อยละ 10 - 20 และที่สำคัญคือ  2 ใน 3 ของผลข้างเคียงเหล่านี้สามารถป้องกันได้  ซึ่งสาเหตุของการเกิดปัญหาในการใช้ยาในผู้สูงอายุมีดังนี้
  - ผู้สูงอายุมีโรคหลายชนิด ทำให้ได้รับยาหลายอย่าง  และยาอาจมีผลต่อกัน 
  - ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่มีผลต่อการทำงานของยา เช่น การทำงานของตับและไตลดลง ทำให้เปลี่ยนแปลงยาและกำจัดยาออกจากร่างกายได้ลดลง อาจเกิดระดับยาเกินเป็นพิษได้   ความสามารถ สมองลดลงอาจมีอาการสับสนได้จากการใช้ยาที่คนหนุ่มสาวๆ รับประทานแล้วไม่เป็นอะไร เป็นต้น
  - ปัญหาด้านลักษณะการใช้ยาของผู้สูงอายุ เช่น ผู้สูงอายุไม่ไปพบแพทย์  อาจเนื่องจากปัญหาด้านร่างกายและจิตใจที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถไปพบแพทย์ได้ หรือบางครั้งเกิดจากความเชื่อที่ชอบซื้อยามารับประทานเอง หรือเอายาเก่า ๆ ที่เคยได้มารับประทานเอง เป็นต้น 

    สำหรับวิธีการป้องกันการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาในผู้สูงอายุ มีดังนี้
  - มีชื่อยาและชื่อโรคที่เป็นไว้  ตลอดจนมีชื่อยาที่เคยแพ้ไว้กับตัวและแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบ
  - พยายามเริ่มต้นการรักษาแบบไม่ใช้ยาก่อนเสมอ เช่น ท้องผูก ควรรักษาด้วยการดื่มน้ำมาก  ๆ  รับประทานอาหารที่มีกากเส้นใยมาก  เป็นต้น  
  - รับประทานยาตามแพทย์สั่ง  อย่างสม่ำเสมอ และติดตามการรักษากับแพทย์เป็นระยะ อย่านำยาเดิมไปซื้อมารับประทานเอง เนื่องจาก บางครั้งต้องมีการปรับเปลี่ยนยาตามสภาพร่างกายและโรคที่เปลี่ยนแปลงไป
  - นำยาทั้งหมดที่รับประทาน ไม่ว่าจะได้จากที่ใด ไปให้แพทย์ตรวจเช็คเป็นระยะ
  - หลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง  และหลีกเลี่ยงยาสมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน เนื่องจากยาเหล่านี้อาจมีผลเสียต่อร่างกายได้
  - ตรวจดูวันหมดอายุของยา  โดยทั่วไปยาที่ได้รับจากจะยังมีระยะเวลาก่อนยาหมดอายุนานพอควร  แต่อย่างไรก็ตามถ้าใช้ยาเก่าที่เหลืออยู่ ควรมั่นใจว่ายายังไม่หมดอายุ  ทางที่ดีที่สุดคือ พยายามอย่าเก็บยาเหลือใช้ไว้รับประทานในวันหน้า  เนื่องจากยาอาจหมดอายุ หรือในวันหน้าที่ไม่สบายอาจไม่ควรใช้ยาตัวเดิมแล้ว
  - ก่อนจะหยุดยาที่ได้รับมา  ควรปรึกษาและแจ้งให้แพทย์ทราบถึงสาเหตุที่จะหยุดยานั้น เช่น เกิดผลข้างเคียง  ยาไม่ได้ผล วิธีการรับประทานยาซับซ้อนเกินไป หรือราคายาแพงเกินไป เป็นต้น
  - ควรรับการรักษาและติดตามกับแพทย์คนเดิม เนื่องจากจะทราบประวัติการใช้ยาตลอด แต่หากต้องรักษากับแพทย์มากกว่า 1 คน ต้องนำประวัติเก่าและรายการยาที่ใช้อยู่ให้แพทย์ทุกคนทราบ
  - อาจใช้กล่องยาในการช่วยจำ ทำให้ง่ายต่อการรับประทานยามากขึ้น
  - ผู้ที่มีปัญหาเรื่องความจำ แพทย์ควรแนะนำให้ผู้ดูแลหรือญาติที่อยู่ด้วยเป็นผู้จัดยาให้ผู้ป่วย

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช