ออกอากาศ : วันที่ 29 ธันวาคม 2556  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: เรื่อง 6 โรค ควรระวัง ช่วงปีใหม่
บทคัดย่อ:

          ในโอกาสที่มีการเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่  การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ   โดยเฉพาะ   6  โรค  ที่มักจะมาทักทายผู้คนในช่วงปีใหม่ มีคำเตือนจาก ศ.คลินิก นพ.อุดม  คชินทร คณบดีคณะแพทย ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดลครับ 

         ในช่วงปีใหม่ อากาศมักจะชื้นและเย็น จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข  โรคที่ป่วยกันมากตามลำดับคือ         ปอดบวม รองลงมาคือ ไข้หวัดใหญ่ อุจจาระร่วง โรคมือเท้าปาก โรคอีสุกอีใส และโรคหัด ซึ่งสำหรับไข้หวัดใหญ่ที่จะป่วยกันมากที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า  5  ปี  ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด    โรคตับ  โรคไต  เบาหวาน  โรคโลหิตจาง  เนื่องจากเป็นผู้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ  จึงติดเชื้อง่าย และมีอาการรุนแรงกว่าคนปกติทั่วไป

          ดังนั้นประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว  ขอให้เพิ่มการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมง รักษาร่างกายให้อบอุ่น ป้องกันตัวเองไม่ให้รับเชื้อ ด้วยการไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นไข้หวัด รวมถึงทุกคนควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เพราะจะสามารถขจัดเชื้อโรคที่ติดมากับมือออกไปได้ นอกจากนี้ทุกคนควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเพิ่มผัก ผลไม้สด

             ส่วนผู้ที่เป็นไข้หวัด  มีอาการไอ จาม ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม หรือใช้หน้ากากปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันไม่ให้คนใกล้ชิดติดเชื้อไปด้วย

             สำหรับหลายท่านที่คิดว่าการดื่มสุราในช่วงอากาศหนาวเย็น จะคลายหนาวได้นั้น แท้จริงแล้ว  การดื่มสุราจะทำให้ร่างกายร้อน  เนื่องจากหลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ความร้อนจะถูกระบายออก  ทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง ระบบไหลเวียนเลือดข้นขึ้น ที่สำคัญถ้าดื่มมาก ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะไปกดประสาทส่วนกลาง          ทำให้เมา  หลับ  ไม่รู้สึกตัว  และถ้าไม่มีเครื่องนุ่งห่มที่ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ก็อาจทำให้เสียชีวิตจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นได้  

            ท้ายนี้มีวิธีสังเกตอาการของโรคปอดบวม ซึ่งเป็นโรคที่มีอันตรายที่สุดในช่วงนี้ โดยในช่วงแรกที่เริ่มมีอาการไม่สบาย อาจจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ ให้กินยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล ยาลดน้ำมูก แล้วนอนพัก  ถ้า 2 วันแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น  มีไข้สูง หรือมีอาการมากขึ้น เช่น หายใจลำบาก หายใจเร็ว หอบเหนื่อย โดยเฉพาะเด็กเล็ก หายใจมีเสียงหวีด  ซี่โครงบุ๋ม ให้รีบมาพบแพทย์ทันที

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช