ออกอากาศ : วันที่ 1 ธันวาคม 2556  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: อย่างไร คือ “อัลไซเมอร์”
บทคัดย่อ:

        อาการอย่างไรและพฤติกรรมแบบไหนจึงจะเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์  วันนี้ รศ.นพ.วีรศักดิ์  เมืองไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม มีให้ติดตามชมกัน      

             ภาวะสมองเสื่อมมีหลายชนิด ที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคอัลไซเมอร์ ญาติหรือผู้ใกล้ชิดอาจสังเกตอาการ หรือพฤติกรรมต่างๆ ของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ได้  เช่น  ความทรงจำในสิ่งหนึ่งเกิดหายไปคือ จะลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น   แต่จะจดจำเรื่องในอดีตได้ดี  หรืออาจถามซ้ำในเรื่องที่เพิ่งบอกไป หรือพูดซ้ำเรื่องเดิมที่เพิ่งเล่าให้ฟัง  

 สำหรับอาการอื่นๆ ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมคือ ทำอะไรที่เคยทำเป็นประจำไม่ได้ สับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่ นึกคำพูดไม่ออก หรือใช้คำพูดผิดๆ   มีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิม การตัดสินใจช้า ไม่สามารถคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับระดับความสามารถ การศึกษา และหน้าที่รับผิดชอบเดิมของผู้ป่วย 

นอกจากนี้ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมยังมีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ได้บ่อย เช่น  มีอารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย มีอาการหวาดระแวง เข้าใจผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  เกิดภาวะซึมเศร้า เฉยเมย  อาการเหล่านี้หากเกิดขึ้นนานกว่า 3-6 เดือน แพทย์จะวินิจฉัยว่าเกิดจากภาวะสมองเสื่อม  ซึ่งต้องได้รับการดูแลจากญาติหรือผู้ใกล้ชิด

โดยการดูแล จะต้องเลือกวิธีที่เหมาะสมในแต่ละช่วงของความเสื่อม ซึ่งหากสมองเสื่อมในระยะแรก        จะแนะนำให้ทำกิจกรรมที่กระตุ้นการคิดอ่าน มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้าน เช่น อ่านหนังสือพิมพ์                  ดูโทรทัศน์ ดูปฏิทิน ทบทวนรายการสินค้าที่ซื้อมา เพื่อให้เกิดการรับรู้ มีการทบทวนสิ่งที่ผ่านมาในแต่ละวัน เพื่อช่วยเรียงลำดับเหตุการณ์และกระตุ้นความจำให้แก่ผู้ป่วย  และถ้าหากผู้ป่วยที่เข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมรุนแรงมากขึ้นจนมี ผลกระทบทั้งในเรื่องความจำ  การรับรู้   การดำเนินชีวิต และการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ  ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลและช่วยเหลือจากญาติอย่างใกล้ชิด 

สำหรับการรักษาด้วยการใช้ยานั้น จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ระยะหนึ่งหรือชะลออาการ แต่ยังไม่สามารถรักษาภาวะสมองเสื่อมให้กับผู้ป่วยให้หายขาดได้

             ฉะนั้นการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น  โดยเฉพาะการพัฒนาด้านความจำและฝึกทักษะการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย  ซึ่งควรทำอย่างเป็นระบบและมีระเบียบ  อาทิ ควรจัดรูปแบบการดูแลที่สม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ควรจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อความสะดวกและป้องกันความสับสนสำหรับผู้ป่วย  เช่น ของใช้สำหรับการแต่งตัว ควรจัดเตรียมไว้ให้ตามลำดับก่อนหลัง  การสื่อสารกับผู้ป่วยควรพูดช้าๆ สั้นๆ ทีละขั้น อย่าพูดหลายขั้นตอนพร้อมกัน ให้เวลาผู้ป่วยนึกคิด อาจต้องพูดซ้ำ ถ้าผู้ป่วยไม่เข้าใจ ผู้ดูแลควรมีความอดทนและมีความยืดหยุ่นในการดูแลผู้ป่วยสูงครับ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช