ออกอากาศ : วันที่ 12 มีนาคม 2549  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ตัวเตี้ยในเด็ก
บทคัดย่อ:

      พ่อแม่หลายท่านคงเคยกังวลเมื่อเห็นลูกตัวเตี้ยกว่าเด็กคนอื่นๆ ซึ่งมีปัจจัยใดเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น  ผศ.พญ.ไพรัลยา  นาควัชระ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ อธิบายว่า ปัจจุบันผู้ปกครองให้ความสนใจในเรื่องความสูงของลูกมากขึ้น พ่อแม่ที่มีลูกตัวเตี้ยกว่าเด็กคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน  มักเกิดความกังวลว่าลูกมีความผิดปกติหรือไม่  ภาวะตัวเตี้ย คือ ภาวะที่ส่วนสูงที่วัดได้มีค่าน้อยกว่าค่าปกติของเพศและช่วงอายุ  โดยปกติอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5 เซนติเมตรต่อปี ส่วนสาเหตุของการตัวเตี้ยผิดปกติมี 2 สาเหตุ คือ
     
    1. ตัวเตี้ยแบบปกติ ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 60 ของเด็กที่มาปรึกษาเรื่องตัวเตี้ย อันเนื่องมาจากกรรมพันธุ์ แต่อัตราการเจริญเติบโตจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือการตัวเตี้ยในลักษณะเป็นม้าตีนปลาย หมายถึงเด็กจะเจริญเติบโตตั้งแต่คลอด แต่พอถึงช่วงอายุ 2 ขวบ จะเติบโตช้าลง และจะเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาวช้ากว่าเพื่อนวัยเดียวกัน ซึ่งพ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจ และเบี่ยงเบนความสนใจและส่งเสริมลูกในด้านอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดปมด้อย ส่วนอาการตัวเตี้ยแบบที่        
       
     2. เป็นแบบผิดปกติ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้ตัวเตี้ยอย่างเดียวแต่มักจะโตช้า อันเนื่องมาจากภาวะโภชนาการไม่ดี มารดามีภาวะผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ ความผิดปกติของกระดูก รหัสกรรมพันธุ์ผิดปกติ มีโรคในระบบร่างกายต่าง ๆ เด็กถูกเลี้ยงในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีต่อจิตใจ หรือมีความผิดปกติของฮอร์โมน เป็นต้น  สำหรับแนวทางการรักษาเด็กตัวเตี้ยผิดปกติมุ่งเน้นการแก้ไขที่สาเหตุ โดยใช้การรักษาด้วย growth hormone มีที่ใช้ได้ผลดีในเด็กที่ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโตจริง ๆ แต่การรักษาด้วยฮอร์โมนมีค่าใช้จ่ายสูง ในเด็กที่ตัวเตี้ยแบบปกติ พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าลูกตัวเตี้ยหรือไม่ ควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยอีกทางหนึ่ง

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช