ออกอากาศ : วันที่ 1 กันยายน 2556  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: กดจุด หยุดปวด
บทคัดย่อ:

         “การกดจุด เป็นการบรรเทาอาการปวดที่ไม่ต้องกินยา แต่ใช้การกดกล้ามเนื้อเฉพาะจุด  เป็นศาสตร์ของแพทย์ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยอีกแขนงหนึ่ง” อ.นพ.ชนินทร์  ลีวานันท์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู เล่าว่า การกดจุด เป็นศาสตร์ของการแพทย์แผนปัจจุบัน แผนไทย และการแพทย์แผนจีน ที่นำมาประยุกต์สำหรับใช้ลดอาการปวด โดยใช้นิ้วโป้ง หรือนิ้วชี้ กดลงบนร่างกายตามจุดต่าง ๆ  

          สิ่งสำคัญของการกดจุด เพื่อให้พังผืดที่มีการเกาะรั้งในตำแหน่งของมัดกล้ามเนื้อข้างๆ  ให้มีการคลายตัว  การกดค้างไว้สักครู่แล้วปล่อยนิ้ว จะทำให้จุดที่กดขาดเลือดชั่วคราว แต่เมื่อปล่อยนิ้วเลือดจะวิ่งกลับมามากขึ้น  ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดบริเวณที่กด เมื่อกล้ามเนื้อมีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ก็จะช่วยลดอาการปวดจากการขาดเลือดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ  แต่ในกรณีที่เมื่อกดไปแล้วกล้ามเนื้อยังเกร็งอยู่  อาจพบในคนไข้ที่กินยาแก้ปวดมานานเป็นเวลา 8-10 ปี จึงทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ยาก  กรณีเช่นนี้จะต้องใช้เวลาในการกดจุดนานกว่าคนไข้ที่เพิ่งเป็น 2-3 ปี

          การกดจุดโดยทั่วไปจะเป็นการกดที่จุดปวดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นพังผืด เช่น ที่คอ  หลัง สะโพก  หรือเป็นการกดจุดตามสัญญาณแพทย์แผนไทย  เช่น  สัญญานไหล่   สัญญาณหลัง  และยังกดตามจุดฝังเข็มได้     โดยเฉพาะที่บริเวณแนวขนานกระดูกสันหลังระดับคอและเอว

          ส่วนข้อห้ามของการกดจุด คือ ตำแหน่งที่เป็นมะเร็ง เพราะอาจเกิดการกระจายของเซลล์มะเร็ง  ผู้ที่มีการติดเชื้อ เช่น เป็นฝี หนอง เซลล์อักเสบติดเชื้อ เช่น ทางเดินน้ำเหลืองอักเสบ  ข้ออักเสบ   หรือบริเวณที่เพิ่งมีการบาดเจ็บ หรือเลือดออกที่ยังหายไม่สนิท

          ผลการรักษาขึ้นอยู่กับอาการปวดของคนไข้แต่ละราย  ส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้น  80 %  ส่วนอีก 20 % ขึ้นอยู่กับการดูแลตนเองของคนไข้  โดยหลังการรักษา  แพทย์จะแนะนำท่าสำหรับฝึกให้ผู้ป่วย  เพื่อช่วยลดการหดตัวของกล้ามเนื้อครับ

          ท้ายนี้ขอฝากท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อ  เพื่อช่วยลดการหดตัวของกล้ามเนื้อและเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย  อาจเริ่มที่การปรับพฤติกรรมต่างๆ  เช่น การนั่งทำงานนาน ๆ  ควรมีการพักเพื่อยืดกล้ามเนื้อทุกๆ 1 ชั่วโมง  ซึ่งทำได้หลายวิธี  เช่น การหมุนแขนเบา ๆ หรือจะเป็นท่าหันหน้าซ้ายให้สุด จากนั้นสลับเป็นด้านขวา รวมทั้งเอามือขวาสัมผัสศีรษะด้านซ้าย ดึงศีรษะไปด้านขวา ทำสลับกัน โดยการทำทุกท่าจะต้องไม่ฝืน ถ้ารู้สึกตึงก็ปล่อยกลับสู่สภาพปกติ  ซึ่งวิธีการบริหารกล้ามเนื้อนี้สามารถทำได้ทุกคนครับ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช