“อาการผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการสัมผัสแมลงก้นกระดก มีสารชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังของเราได้” อ.พญ.เพ็ญวดี พัฒนปรีชากุล ภาควิชาตจวิทยา กล่าวว่า แมลงก้นกระดกจะมีสารที่เรียกว่า Pederin ที่ระคายเคืองและทำลายเนื้อเยื่อของผิวหนังบริเวณที่สัมผัส ซึ่งความรุนแรงจะขึ้นกับปริมาณความเข้มข้นของสารที่สัมผัส อาการผื่นผิวหนังนั้นจะยังไม่เกิดทันทีที่สัมผัส แต่จะรู้สึกแสบหรือคันเล็กน้อยโดยไม่มีอาการปวดแสบรุนแรง และเมื่อผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง จะเกิดเป็นผื่นแดงชัดเจน หรือเห็นเป็นรอยไหม้ลักษณะเป็นทางยาว เนื่องจากมีการปัดไปโดนตัวแมลง หรือบางรายจะเกิดผื่นที่บริเวณซอกพับร่วมกับมีตุ่มน้ำพอง หรือมีตุ่มหนองภายใน 2-3 วัน โดยผื่นจากการสัมผัสแมลงก้นกระดกนี้ จะแห้งตกสะเก็ดและหายเองได้ภายใน 7-10 วัน โดยอาจทิ้งรอยดำไว้สักระยะหนึ่ง แต่มักจะไม่เกิดเป็นแผลเป็น นอกจากจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมที่บริเวณผื่นเดิม ซึ่งทำให้ผื่นหายช้าลง และอาจลุกลามจนเกิดแผลเป็นหลังจากผื่นหายได้ สำหรับในรายที่มีผื่นเป็นบริเวณกว้าง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ หรืออาการคลื่นไส้อาเจียนได้ หากสารพิษจากแมลงก้นกระดกเข้าตา อาจทำให้ตาบอดได้
หากมีการสัมผัสถูกตัวของแมลงก้นกระดก เบื้องต้นให้รีบล้างด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำสบู่ และประคบเย็นในบริเวณที่สัมผัสโดนแมลง จากนั้นสังเกตอาการที่ผิวหนัง ถ้าเกิดรอยแดงเล็กน้อยมักจะหายเองได้ใน 2-3 วัน โดยไม่จำเป็น ต้องทายา แต่ถ้าเป็นผื่นมากขึ้นหรือมีตุ่มหนองขึ้น ให้มาพบแพทย์เพื่อการรักษาอย่างถูกวิธี เช่น การใช้ครีมสเตียรอยด์ ทาบริเวณผื่นแดงในช่วงแรก แต่ถ้าผื่นมีตุ่มน้ำหรือตุ่มหนองเป็นบริเวณกว้าง หรือมีรอยแผลไหม้ ควรประคบด้วยน้ำเกลือครั้งละ 5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้งจนแผลแห้ง และรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคัน ก็สามารถรับประทานยาแก้คันเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก ควรหลีกเลี่ยงการปัดหรือบีบตัวแมลงที่มาเกาะตามตัว แต่ให้ใช้วิธีเป่าให้แมลงหลุดออกไปเองโดยไม่สัมผัสตัวแมลง และก่อนนอนก็ควรปัดที่นอน หมอน ผ้าห่ม และปิดไฟในห้องนอนดัวย เพราะแมลงก้นกระดกมักชอบออกมาเล่นแสงไฟตามบ้าน
|