ออกอากาศ : วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ปากแหว่ง เพดานโหว่รักษาได้
บทคัดย่อ:

 

           การให้กำเนิดลูกน้อยที่มีอวัยวะครบ 32 เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนปรารถนา  แต่ถ้ามีความผิดปกติ เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่  ซึ่งในทางการแพทย์ปัจจุบันสามารถรักษาให้กลับมาเหมือนเด็กทั่วๆ ไปได้  ติดตามจาก  ผศ.นพ.สรวุฒิ

ชูอ่องสกุล    ภาควิชาศัลยศาสตร์  

            เด็กที่มีความพิการปากแหว่งเพดานโหว่นั้น  จะมีปัญหาตั้งแต่เรื่องของการเลี้ยงดูหลังคลอด เนื่องจากเด็กไม่สามารถดูดนมได้อย่างเด็กทั่วไป  มีปัญหาในระบบของร่างกาย เช่น ความพิการทางหัวใจและระบบไหลเวียน ระบบทางเดินอาหาร ระบบขับถ่าย รวมทั้งระบบประสาทและสมอง ก็สามารถพบในเด็กกลุ่มนี้ได้ 

           ดังนั้นแพทย์ต้องตรวจให้ละเอียดว่า เป็นปากแหว่ง เพดานโหว่ชนิดใด ซึ่งแยกเป็นชนิดปากแหว่งแบบสมบูรณ์ คือ แหว่งเข้าไปถึงรูจมูก ปากแหว่งแบบไม่สมบูรณ์ คือ แหว่งเฉพาะที่ริมฝีปาก ปากแหว่งข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง เพดานโหว่แบบสมบูรณ์ คือ โหว่ตั้งแต่ลิ้นไก่ถึงเพดานแข็งด้านหน้าและถึงเหงือกด้านหน้า เพดานโหว่แบบไม่สมบูรณ์ คือ โหว่เฉพาะส่วนเพดานอ่อนด้านหลังเท่านั้น ซึ่งการโหว่อาจจะเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ บางรายอาจปากแหว่งเพดานโหวร่วมกับความผิดปกติของใบหน้า ความพิการของโรคที่เกี่ยวข้องกับขากรรไกรเล็กผิดปกติ เป็นต้น

           การรักษา แพทย์จะตรวจร่างกายว่ามีความพิการส่วนใดบ้าง เพื่อวางแผนในการรักษาอย่างเป็นระบบ แต่หากมีไข้หวัด ปอดอักเสบ หูอักเสบ ก็ต้องรักษาให้หายเสียก่อน เพื่อจะได้ไม่ส่งผลต่อการผ่าตัดและการดมยาสลบ สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัดริมฝีปากแหว่งนั้น จะทำเมื่ออายุประมาณ 3 เดือน น้ำหนักเด็กมากกว่า 5 กิโลกรัม และไม่มีปัญหาเรื่องซีด หรือการติดเชื้ออื่นๆ ในร่างกาย  โดยการรักษาเพื่อซ่อมแซมริมฝีปาก  สร้างริมฝีปาก และแก้ไขจมูกให้กลับคืนสู่สภาพที่ใกล้เคียงกับปกติให้มากที่สุด และหากมีเพดานโหว่ร่วมด้วย แพทย์จะทำการผ่าตัดปิดเพดานและลิ้นไก่ประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ส่งผลให้ให้การเจริญเติบโตของกระดูกและใบหน้ารวมถึงการพูดของเด็กใกล้เคียงเด็กปกติ 

          หลังการรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่แล้ว  การรักษาต่อเนื่อง  เช่น การฝึกพูด  ฝึกใช้ริมฝีปาก  การจัดฟัน  การซ่อมแซมเหงือก เป็นสิ่งที่ควรทำต่อเนื่อง 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช