ออกอากาศ : วันที่ 9 ธันวาคม 2555  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: การให้ยาสำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน
บทคัดย่อ:

          การกินยาของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ก็เพื่อลดปริมาณกรดที่จะไหลย้อนขึ้นไป และเพื่อเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารในการกำจัดกรด แต่ยาทั้งสองชนิดเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ จะลดการใช้ยาได้หรือไม่ รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา กล่าวถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้ 
          1. รู้สาเหตุที่ทำให้กรดไหลย้อน โดยการสังเกตพฤติกรรมของตนเอง ที่จะทำให้กรดไหลย้อนมากขึ้น และหลีกเลี่ยง เช่น
              • กินอาหารมากเกินไปในแต่ละมื้อ กินอาหารรสจัด หรือกินแล้วนอนทันที 
              • กินอาหารประเภทมันๆ ปรุงด้วยการผัด การทอด รวมถึงกินไข่แดง
              • ดื่มนมที่มีไขมันสูง น้ำเต้าหู้ ชา กาแฟ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
              • น้ำหนักตัวที่เพิ่ม ท้องผูก และขาดการออกกำลังกาย
          2. รู้ว่าสิ่งใดทำให้อาการดีขึ้น ต้องปฏิบัติ เช่น 
              • กินอาหารปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยๆ แทนการกินอาหารที่มากเกินไปในแต่ละมื้อ และกินอาหารล่วงหน้าก่อนนอน อย่างน้อย 3 ชั่วโมง 
              • หลีกเลี่ยงการกินอาหารประเภทมันๆ อาหารที่ปรุงด้วยการผัด การทอดทุกชนิด รวมถึงไข่แดง 
              • ดื่มนมพร่องมันเนย หรือนมไร้ไขมัน (ไขมัน =0%) 
              • หลีกเลี่ยงน้ำเต้าหู้ ชา กาแฟ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ • ลดน้ำหนักตัว 
              • งดการสูบบุหรี่ เพราะจะกระตุ้นทำให้มีการหลั่งกรดมากขึ้น 
              • พยายามไม่ให้เกิดอาการท้องผูก โดยดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น ( ดื่มน้อยๆ แต่บ่อยๆ ) และกินผักผลไม้ ที่มีกากให้มากขึ้น 
              • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ฝืดแบบปรับ น้ำหนักได้ เล่นเทนนิส แบดมินตัน เป็นต้น 
              • ควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้น โดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้ อิฐ โดยเริ่มประมาณ ½ - 1 นิ้ว จากพื้นราบก่อน แล้วจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ควรยกสูงมากจนร่างกายของผู้ป่วยไหลลงไปที่ปลายเตียง อย่ายกศีรษะให้สูงขึ้นโดยการใช้หมอนรองศีรษะ เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น ถ้านอนพื้น หรือไม่สามารถยกเตียงได้ ให้หาแผ่นไม้ขนาดเท่าฟูก รองใต้ฟูก แล้วใช้ไม้หรืออิฐ ยกแผ่นไม้ดังกล่าวขึ้น
          หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมข้างต้นได้ โอกาสที่ผู้ป่วยจะหยุดยาได้ก็จะสูง โดยเริ่มจาก
          1. แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาลดกรด และยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารในการกำจัดกรดประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ก่อน ซึ่งโดยทั่วไปอาการผู้ป่วยจะดีขึ้นตามลำดับ จากนั้นแพทย์จะลดยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารฯ ก่อน แล้วจึงพิจารณาลดยาลดกรดลงภายหลัง
          2. หลังจากผ่านการใช้ยาตามข้อ 1 ประมาณ 1-3 เดือนแล้ว มีอาการไม่มากขึ้น แสดงว่าผู้ป่วยปฏิบัติตัวได้ดีพอควร แพทย์อาจพิจารณาหยุดยาทั้งหมด แต่ผู้ป่วยอาจใช้ยาเฉพาะช่วงที่มีอาการกรดไหลย้อนเท่านั้น 
          อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่า โรคกรดไหลย้อนจะหายขาด หากผู้ป่วยยังหันกลับไปมีพฤติกรรมเดิมๆ แต่เพื่อความไม่ประมาท ผู้ป่วยควรมียาลดกรดและยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารฯ ติดตัวไว้เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเวลาเดินทาง

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช