ออกอากาศ : วันที่ 23 กันยายน 2555  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคไต ใครว่าไกลตัวเด็ก
บทคัดย่อ:

 

           โรคไตในเด็กเป็นโรคที่ถูกตรวจพบได้มากขึ้นในปัจจุบัน  ซึ่งหลายคนคิดว่าโรคไตส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ แต่ในความเป็นจริง  โรคไตสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุแม้แต่ในทารกแรกเกิด ไปฟังคำตอบจาก รศ.นพ.อนิรุธ  ภัทรากาญจน์   ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ครับ

            สาเหตุของโรคไตในเด็กจะมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่   และจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุ ในเด็กเล็ก มักจะเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างไตและระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด เช่น ภาวะอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะปัสสาวะไหลย้อนจากกระเพาะปัสสาวะกลับขึ้นไปยังท่อไต ความผิดปกติในการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ภาวะเนื้อไตผิดปกติแต่กำเนิดชนิดต่างๆ ซึ่งบางชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม ภาวะต่างๆ เหล่านี้ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ สำหรับเด็กโต มักเป็นภาวะไตอักเสบที่เกิดตามหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอหรือที่ผิวหนัง หรือเกิดจากโรคเอสแอลอี ซึ่งเป็นโรคที่มีภูมิต้านทำร้ายเนื้อเยื่อตนเอง หรือเป็นโรคไตเนฟโลติกจากการสูญเสียโปรตีนปริมาณมากไปทางปัสสาวะ 

            เด็กที่มีโรคไตอาจมีความผิดปกติของปัสสาวะให้เห็น เช่น มีสีแดง มีสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ ปัสสาวะแสบขัด อาจถ่ายปัสสาวะออกมากกว่าหรือน้อยกว่าปกติ อาจบวมทั้งตัวซึ่งเห็นได้ชัดบริเวณหนังตา  อาจมีอาการซีด เหนื่อยง่าย  หรือเลี้ยงไม่โต  ทั้งนี้เด็กจะมีอาการดังกล่าวหรือไม่ขึ้นกับสาเหตุแต่ละชนิดของโรคไต

            การรักษาโรคไตในเด็กแตกต่างกันไปตามสาเหตุ บางชนิดหายขาด บางชนิดไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมได้ ตัวอย่างเช่น ไตอักเสบที่เกิดตามหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอหรือที่ผิวหนัง ส่วนใหญ่หายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ในช่วงที่มีไตอักเสบ เด็กมักจะได้รับยาขับปัสสาวะเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจรุนแรงจนทำให้ชักหรือเกิดภาวะหัวใจวายได้  สำหรับความผิดปกติของโครงสร้างไตและระบบทางเดินปัสสาวะแต่กำเนิดนั้น ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีวิธีการดูแลรักษาเพื่อชะลอการเสื่อมของไตลงได้  สำหรับเด็กที่มีภาวะไตวายระยะสุดท้าย มักจะได้รับการรักษาทดแทนไตซึ่งอาจเป็นการล้างไตผ่านทางช่องท้อง   การฟอกเลือด หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต 

             ดังนั้น หากสงสัยว่าทารกและเด็กจะเป็นโรคไต แม้จะมีอาการเพียงเล็กๆ น้อยๆ ควรพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะแรก ก็จะสามารถให้การรักษาและลดการเสื่อมของไตได้ 

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช