ออกอากาศ : วันที่ 16 กันยายน 2555  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: การตรวจสมรรถภาพปอดนั้น สำคัญไฉน
บทคัดย่อ:

 

     ปอดของคนเรามีหน้าที่สำคัญคือ รับออกซิเจนเข้าและคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย การตรวจสมรรถภาพปอดเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยประเมินความสามารถของปอดในการทำหน้าที่นี้ มีความจำเป็นหรือไม่ อย่างไร   ติดตามจาก  ผศ.พญ.ดร.เบญจมาศ  ช่วยชู  ภาควิชาอายุรศาสตร์

     การตรวจสมรรถภาพปอด  มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวินิจฉัย ประเมินผล และติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคระบบการหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืด และประเมินความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด และยังสามารถบอกถึงความเสื่อมของการทำงานของปอดด้วย ซึ่งผู้ที่ควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอด ได้แก่ ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง หอบเหนื่อย  ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น คนที่สูบบุหรี่โดยเฉพาะอายุเกิน 40 ปีขึ้นไปแม้ไม่มีอาการ ผู้สัมผัสฝุ่น ควันที่เป็นอันตรายต่อปอด เช่น  ทำงานในเหมืองแร่  มีฝุ่นฝ้าย  มีฝุ่นหินทราย ทั้งนี้เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรค

      สำหรับวิธีการทดสอบสมรรถภาพปอด  โดยนั่งตัวและหน้าตรง เท้าทั้ง 2 ข้างแตะกับพื้น อมกระบอกเครื่องเป่าและปิดปากให้แน่น ใช้ที่หนีบจมูก สูดหายใจเข้าเต็มที่ หายใจออกให้เร็วและแรงเต็มที่จนหมด และสูดหายใจเข้าอีกครั้ง ทำซ้ำให้ได้ผลที่เข้าเกณฑ์อย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ไม่เกิน 8 ครั้ง  โดยดูจากกราฟปริมาตรและเวลา ซึ่งการหายใจออกต้องนานพอ อย่างน้อยที่สุดคือ 6 วินาที และหากพบความผิดปกติของปอดในระยะแรก จะสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้   แต่การตรวจสมรรถภาพปอด เป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยสำหรับคนทั่วไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือในการตรวจ เพราะผู้ป่วยต้องออกแรงในการเป่า ทำให้บางคนที่เหนื่อยอยู่แล้วคิดว่าทำไม่ได้ แท้จริงแล้วส่วนใหญ่ทำได้และแพทย์ต้องการดูตามกำลังของแต่ละคน ซึ่งยังไม่มีคนไข้ใดขาดใจจากการเป่าเลย

      สำหรับผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง มีอาการเหนื่อย หรือกลุ่มคนทำงานที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง ควรรับการตรวจสมรรถภาพปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง   ซึ่งก่อนตรวจ  งดยาขยายหลอดลมชนิดพ่นสูดหลัง 2 ทุ่มก่อนวันตรวจและตอนเช้าวันตรวจ ยกเว้นเหนื่อยมากถึงใช้พ่น แต่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าเริ่มสูดยาเมื่อไหร่ ส่วนยาอื่นใช้ได้ตามปกติ เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ไม่ต้องงดอาหารแต่หลีกเลี่ยงการกินอาหารจนอิ่มมากก่อนตรวจ 2 ชั่วโมง แต่งดการออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที และไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดทรวงอกและท้อง  รวมทั้งงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่  เพื่อให้ผลการตรวจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช