ออกอากาศ : วันที่ 9 กันยายน 2555  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ปวดใบหน้า จากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 อักเสบ
บทคัดย่อ:

 

     โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า เป็นอาการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งทำหน้าที่รับความรู้สึกบนใบหน้า แม้ไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่ก็เจ็บปวดทรมานสำหรับผู้ที่เป็น  จะมีวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างไร อ.นพ.ศรัทธาวุธ  วงษ์เวียงจันทร์  ภาควิชาอายุรศาสตร์  มีคำตอบค่ะ

     สาเหตุของอาการปวดใบหน้า  เกิดจากการที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ถูกหลอดเลือดสมอง หรือเนื้องอกมากดทับ ทำให้มีอาการปวดเฉียบพลันเป็นระยะเวลาสั้นๆ ที่ใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง คล้ายเข็มทิ่มแทงหรือไฟฟ้าช็อตที่ใบหน้าอย่างแรง  อาการปวดมักเกิดขึ้นเองหรือถูกกระตุ้นโดยเสียง หรือการสัมผัสถูกใบหน้า เช่น โดนลม  ในขณะที่แปรงฟัน  เคี้ยวอาหาร  หรือเวลาดื่มน้ำก็ได้ มักพบในวัยผู้ใหญ่ถึงผู้สูงอายุ  

     การตรวจวินิจฉัย อาจส่งตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และเจาะเลือดหาสาเหตุของโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกัน  เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง   และเมื่อทราบสาเหตุแน่ชัดว่า เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 แล้ว  

     สำหรับการรักษา   เบื้องต้นจะให้ผู้ป่วยกินยา   เช่น  ยากันชัก  ยารักษาโรคไมเกรน  ยาต้านซึมเศร้า ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดและลดจำนวนครั้งที่ปวดได้   แต่ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุ  จึงมักพบอยู่บ่อยครั้งเมื่อผู้ป่วยหยุดยา หรือกินยาไปสักระยะหนึ่ง อาการปวดจะกลับมาเป็นซ้ำอีก

     วิธีรักษาต่อมา คือ  ทำลายเส้นประสาทด้วยรังสี  gamma  knife ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัย และได้ผลดี  ใช้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือในรายที่มีอายุมาก  ทนต่อการผ่าตัดนานๆ ไม่ไหว  แต่มีผลข้างเคียงคือ จะมีอาการชาที่ใบหน้า  

และสุดท้าย รักษาด้วยการผ่าตัด  เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดและโอกาสหายขาดจากโรคก็สูง  อีกทั้งผู้ป่วยจะไม่มีปัญหาใบหน้าชาเนื่องจากเส้นประสาทถูกทำลาย โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดสมองเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งของเส้นเลือด เนื่องจากโรคปวดเส้น ประสาทใบหน้า ส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีเส้นเลือดสมองไปกดเบียดเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5  ซึ่งการผ่าตัดจะได้ผลดี ถ้าอาการของโรคอยู่ในระยะแรก  เพราะหากทิ้งไว้นาน เส้นประสาทจะถูกทำลายมากขึ้น  และยังทำให้อัตราการเป็นซ้ำเพิ่มมากขึ้นได้ ทั้งนี้ผู้ที่จะผ่าตัด ควรงดยาที่มีส่วนผสมกลุ่มแอสไพริน หรือไอบิวโพรเฟน ก่อนและหลังผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อลดอาการฟกช้ำจากปัญหาเลือดคั่ง  พร้อมแจ้งประวัติการแพ้ยา และโรคประจำตัว ให้แพทย์ทราบก่อนการผ่าตัดด้วย 

      อย่างไรก็ตาม อย่ากังวลจนเกินไป  หากมีอาการที่กล่าวมา  เพื่อความแม่นยำมาตรวจกับคุณหมอก่อนดีกว่า

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช