ออกอากาศ : วันที่ 26 สิงหาคม 2555  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: รักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการผสานนวัตกรรม
บทคัดย่อ:

             ปัญหาข้อเข่าเสื่อม  เกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายหรือเกิดการเสื่อม  ซึ่งการรักษาในปัจจุบันได้มีการผสานนวัตกรรมโดยการนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยผ่าตัด จะดีหรือไม่ รศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธ ปิดิคส์และกายภาพบำบัด จะเล่าให้ฟังค่ะ

             การนำหุ่นยนต์มาช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในบางส่วน จะมีการทำงานประสานกัน 3 เครื่อง  เครื่องแรก คือแขนกลหุ่นยนต์ เครื่องที่สอง คือ กล้องจับสัญญาณภาพ   3  มิติ  และเครื่องที่สาม เป็นเครื่องประมวลผล และควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์  โดยมีหลักการทำงาน คือ เครื่องประมวลผลจากภาพด้วย CT scan จะวางแผนก่อนผ่าตัดทั้งขนาด  ตำแหน่ง  มุมของข้อเข่า และส่งผลนั้นไปยังแขนกลหุ่นยนต์  จากนั้นแพทย์จะทำการเปิดบริเวณข้อเข่าเสื่อม  แล้วใช้แขนกลตัดเฉพาะส่วนของกระดูกอ่อนและกระดูกหัวเข่าที่เสื่อมออก   ซึ่งดูจากภาพ  3  มิติ   ที่ปรับความละเอียดในการตัดกระดูกได้ถึงครั้งละ 0.2 มิลลิเมตร  และผลการผ่าตัดให้ค่าความเบี่ยงเบนไม่เกิน  1 มิลลิเมตร หรือ 1 องศาของมุมของข้อเข่า จากนั้นจึงนำข้อเข่าเทียมบางส่วน  ที่เป็นโลหะผสมของโครมโคบอลต์และไททาเนียมใส่เข้าแทนที่    

             การผ่าตัดข้อเข่าเทียมแบบนี้ เส้นเอ็นและเนื้อเยื่อบริเวณรอบข้อเข่าจะเป็นปกติ  ไม่ได้รับการบาดเจ็บจากการผ่าตัด   ผู้ป่วยจึงงอเข่าได้ใกล้เคียงกับการงอเข่าของคนปกติ   ความบอบช้ำของแผลผ่าตัดมีน้อย  ผู้ป่วยสามารถลุกนั่งและเดินได้ในวันแรกหลังผ่าตัด ซึ่งผลการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมคือ การลดความเจ็บปวดและช่วยให้ข้อสามารถทำงานได้เป็นปกติ    

             สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนโดยหุ่นยนต์  ผู้ป่วยต้องมีภาวะข้อเข่าเสื่อมเพียงบางส่วน เช่น กระดูกส่วนบนของเข่า หรือกระดูกส่วนล่างของเข่า และที่สำคัญ ผู้ป่วยต้องมีข้อสะโพกที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เพื่อจะใช้จุดศูนย์กลางของข้อสะโพกโยงไปถึงแนวกระดูกสำหรับให้ใส่ข้อเข่าเทียมแบบบางส่วนได้อย่างแม่นยำ  และหุ่นยนต์ที่ช่วยผ่าตัดข้อเข่าเทียมยังพัฒนาให้ใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมได้ด้วย

            ว่าแต่การดูแลสุขภาพย่อมดีกว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมแล้วมารักษา โดยลดน้ำหนักตัวที่มากเกินไป  หลีกเลี่ยงการใช้งานที่เกินกำลัง ไม่นั่ง คุกเข่าหรือนั่งพับเพียบบ่อย ๆ  เป็นเวลานาน   เพราะจะทำให้เกิดแรงกดภายในข้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวเร่งที่ทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น  และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช