ออกอากาศ : วันที่ 19 สิงหาคม 2555  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: การดูแลผู้สูงอายุ : สมองเสื่อม
บทคัดย่อ:

             ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ มีอาการตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นรุนแรง ดังนั้นผู้ใกล้ชิดและครอบครัวจะมีวิธีดูแลแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วย ผศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล  ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม  มีคำตอบค่ะ      

             ผู้ดูแลและครอบครัวของผู้ป่วย ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม ศึกษาพฤติกรรมและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ดูแลสามารถหาวิธีรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม โดยทั่วไปผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม  มักมีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์หลายอย่าง การแก้ปัญหาหลายอย่างพร้อมๆ กันอาจทำได้ยาก แต่การแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดเพียงปัญหาเดียวก็อาจทำให้การดูแลนั้นง่ายขึ้น  และไม่ควรยึดติดกับความถูกต้องทั้งหมด  ถ้าผู้ป่วยยืนยันความต้องการและไม่เป็นอันตราย ก็ไม่ควรขัดใจครับ และต้องพยายามจัดการดูแลที่สม่ำเสมอ การพูด และสื่อสารกับผู้ป่วยเป็นประจำ  ใช้วิธีอธิบายสั้นๆ  ให้ผู้ป่วยทำทีละขั้น  เช่น การรับประทานอาหาร  รับประทานยา การออกกำลังกาย  การเข้านอน ควรเป็นเวลาเดิมๆ   และวิธีการเหมือนๆ เดิมทุกวัน   ไม่เคลื่อนย้ายอุปกรณ์ของใช้บ่อย  เพื่อให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้และปรับตัว   ซึ่งบางครั้งผู้ดูแลผู้ป่วย อาจเข้าใจว่าผู้ป่วยจะเข้าใจและจำได้   แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปครับ    

             ทางที่ดีควรให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ บ้าง จะได้รู้สึกว่ามีส่วนร่วมในครอบครัว  แต่ต้องไม่ฝืนผู้ป่วยจนเกิดอาการหงุดหงิด และส่งผลถึงผู้ดูแลที่ทำให้อารมณ์เสียได้   และควรหลีกเลี่ยงการพูดถึงผู้ป่วยต่อหน้าในเชิงวิพากษ์วิจารณ์   เพราะอาจกระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้นได้   รวมถึงผู้ดูแลผู้ป่วยควรได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ มีอารมณ์ดี เพราะผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมยังต้องการความสดชื่น ถ้าผู้ดูแลอารมณ์ดี จะมีผลดีต่ออาการผู้ป่วย ฉะนั้นการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ควรผลัดกันทำหน้าที่ อย่าปล่อยให้อยู่ในความดูแลของผู้ใดคนหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดความเครียดได้ครับ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช