ช่วงที่ฝนตก มักเป็นช่วงที่มีอัตราการระบาดของเชื้อเอนเตอโรไวรัส ที่ก่อให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก เพื่อป้องกันให้หนูน้อยห่างไกลจากโรคนี้ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มีความรู้มาฝากค่ะ
เชื้อเอนเตอโรไวรัส มีหลายสายพันธุ์ ที่ทำให้เกิดโรค มือ เท้า ปาก พบได้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี เป็นส่วนใหญ่ แต่สายพันธุ์ที่ทำให้อาการรุนแรงที่สุดคือ สายพันธุ์เอนเตอโรไวรัส 71 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า อีวี 71
โดยปกติโรคมือเท้าปาก มักมีอาการไข้ เจ็บปาก กินอะไรไม่ค่อยได้เพราะมีแผลร้อนใน และมีผื่นเป็นจุดแดงหรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า มีอาการมากอยู่ 2-3 วันและค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าเกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 อาจเกิดอาการรุนแรง โดยจะมีอาการซึม อ่อนแรง ชักกระตุก มือสั่น เดินเซ หอบ อาเจียน ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้จะต้องรีบมาพบแพทย์ เพราะเชื้ออีวี 71 อาจทำให้เกิดสมองอักเสบรุนแรง ระบบไหลเวียนล้มเหลว มีผลต่อภาวะการหายใจ ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้อย่างรวดเร็ว และบางครั้งเชื้ออีวี 71 สามารถก่อโรคทางสมองได้ โดยไม่ต้องมีผื่นแบบเดียวกับโรค มือ เท้า ปากก็ได้
สำหรับเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 หรืออีวี 71 นี้ ติดต่อได้โดยการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วยโดยตรง และมักระบาดในโรงเรียนชั้นอนุบาล หรือสถานรับลี้ยงเด็กเล็ก เช่น การสัมผัสผ่านของเล่นผ่านมือผู้เลี้ยงดูเด็ก ดังนั้นจึงควรมีมาตรการทำความสะอาดของเล่น ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเด็กต้องล้างมือ การใช้แอลกอฮอล์เจลจะไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ ต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นสำคัญ เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังเด็กคนอื่นและระมัดระวังการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่มากับน้ำและอาหาร นอกจากนี้โรงเรียนอนุบาล หรือสถานรับเลี้ยงเด็กควรมีเครื่องวัดอุณหภูมิหรือปรอทไว้ใช้ในกรณีที่สงสัยว่าเด็กมีไข้ และครู หรือพยาบาล ต้องตรวจรับเด็กก่อนเข้าเรียนทุกวัน เพื่อช่วยคัดกรองและเป็นการป้องกันอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี วิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันและแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ให้สัมผัสกับเด็กคนอื่น เพราะโรคนี้ยังไม่มียาหรือวัคซีนที่ใช้ป้องกันรักษา ทำได้แค่การรักษาตามอาการโดยเฉพาะเด็กที่มีภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 จำเป็นต้องได้รับการดูแลแบบผู้ป่วยวิกฤต ดังนั้นเมื่อบุตรหลานป่วยเป็นไข้ ผู้ปกครองควรเฝ้าระวังอันตรายจากการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และต้องไม่พาไปโรงเรียนหรือไปเที่ยว เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อโรค
|