ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจหามะเร็งกระดูกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ต้องสังเกตอาการผิดปกติอย่างใกล้ชิด จึงจะตรวจพบได้ในระยะเริ่มแรก อาการผิดปกติมีอะไรบ้าง ติดตามรายละเอียดจาก รศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด ค่ะ
มะเร็งกระดูก นับได้ว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว โดยทั่วไปแล้ว มะเร็งกระดูกแบ่งได้ 2 ชนิด คือ ชนิดปฐมภูมิ เกิดจากความผิดปกติภายในเซลล์ของกระดูกที่เป็นเนื้องอก ซึ่งถ้าเป็นเนื้อร้ายก็จะก่อให้เกิดมะเร็งกระดูก และชนิดทุติยภูมิ เกิดจากการแพร่กระจายของมะเร็งชนิดอื่นมาที่กระดูก ซึ่งมักเกิดกับผู้ป่วยที่มีประวัติการเป็นโรคมะเร็งของอวัยวะอื่นมาก่อน เช่น มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น
โดยปกติมะเร็งกระดูกในระยะแรก จะมีอาการปวดบริเวณกระดูกที่มีพยาธิสภาพและปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมะเร็งทำลายกระดูกมากขึ้น จะทำให้เกิดภาวะกระดูกแขนขาหักได้แม้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง หากมะเร็งเกิดที่กระดูกสันหลัง อาจทำให้กระดูกสันหลังยุบหรือกร่อนจากการถูกมะเร็งทำลายไปกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการชามือ เท้า หรือแขนขาอ่อนแรงได้ และสำหรับมะเร็งชนิดทุติยภูมิ ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เนื่องจากมีการทำลายกระดูกจำนวนมาก ผู้ป่วยจะมีอาการซึม มือเท้าชาผิดปกติ ท้องอืด ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้
สำหรับการรักษาผู้ป่วย ขึ้นกับชนิดและระยะของโรค มีตั้งแต่การให้ยาบรรเทาอาการปวด ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน ยาลดแคลเซียมในเลือด ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดและช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ส่วนการให้รังสีรักษาเป็นไปเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเฉพาะตำแหน่ง ลดอาการปวด ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการอัมพาตในรายที่มะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูกสันหลัง ส่วนผู้ป่วยที่เป็นมากและเป็นหลายตำแหน่งอาจฉีดสารกัมมันตรังสี เพื่อลดอาการปวด และหากพิจารณาพบว่าเกิดภาวะมะเร็งกระดูก ตำแหน่งที่รับน้ำหนักมาก เช่น กระดูกต้นขา แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัด เพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูกที่ขา ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้ตามปกติ
มะเร็งกระดูกแม้พบได้น้อย แต่เมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยจะมีอาการทรุดอย่างรวดเร็ว หากพบความผิดปกติ เช่น มีก้อนบริเวณแขน ขา กระดูก ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพราะการวินิจฉัยโรคได้เร็วและให้การรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของโรคและยังไม่มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปที่อวัยวะอื่น จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูง มีคุณภาพชีวิตภายหลังการรักษาที่ดีครับ
|