ออกอากาศ : วันที่ 15 กรกฎาคม 2555  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ภาวะกระดูกหักในผู้สูงอายุ
บทคัดย่อ:

          ภาวะกระดูกหักในผู้สูงอายุ  มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความแข็งแรงของกระดูกลดลง รวมถึงการลื่นล้ม  ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวัง และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ ผศ.นพ.ก้องเขต เหรียญสุวรรณ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด มีวิธีป้องกันมาฝากค่ะ

             การรักษากระดูกหักในผู้สูงอายุนั้น จะต้องครอบคลุมทั้งเรื่องการรักษากระดูกหัก การรักษาภาวะกระดูกพรุน และการป้องกันการล้ม  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวได้เหมือนเดิมโดยเร็ว  เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมา

            ส่วนใหญ่ภาวะกระดูกหักในผู้สูงอายุ จะเกิดที่ข้อมือ กระดูกสันหลังและข้อสะโพก  ซึ่งกระดูกสะโพกหักนั้นมีแนวโน้มที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดมากที่สุด เมื่อผู้สูงอายุล้ม และสงสัยว่าจะมีกระดูกหัก เช่น อาการเจ็บหรือขัด เคลื่อนไหวลำบาก ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ วินิจฉัย และรับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว  เพราะหากรอดูอาการอยู่นาน  อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งจะส่งผลในด้านลบของการรักษา

            สำหรับการรักษาภนาวะกระดูกพรุนนั้น มักเริ่มจากการตรวจเพื่อวินิจฉัย เช่น การตรวจความหนาแน่นกระดูก  และการตรวจเลือดที่เรียกว่า bone marker เพื่อประเมินภาวะการสร้างและการสลายกระดูกของผู้ป่วย จากนั้นพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป   ส่วนการป้องกันการล้มสามารถกระทำควบคู่กันไป เช่น ปรับสภาพที่อยู่อาศัยเพื่อลดการสะดุดล้มของผู้สูงอายุ  การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงตัวก็เป็นการป้องกันที่ดีอีกวิธีหนึ่ง  หากป้องกันแล้วยังมีการหักของกระดูกเกิดขึ้น  ควรทำการดามบริเวณที่หักให้อยู่นิ่งด้วยวัสดุแข็ง เช่น แผ่นไม้ก่อนเคลื่อนย้ายเพื่อลดความเจ็บปวด และการบาดเจ็บเพิ่มเติม จากนั้นนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจรักษาต่อไป

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช