โรคสะเก็ดเงิน เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ ทำให้ในปัจจุบันการรักษาโรคสะเก็ดเงินได้ผลดีจนอยู่ในภาวะปกติได้ ผศ.พญ.ชนิษฎา วงษ์ประภารัตน์ ภาควิชาตจวิทยา มีความรู้มาฝากค่ะ
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อย ประมาณร้อยละ 1 - 2 ของประชากร สาเหตุยังไม่ทราบชัดเจน แต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พันธุกรรมร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบเป็นปื้นแดง มีขุยหนาสีขาวหรือสีเงิน จึงได้ชื่อว่า “โรคสะเก็ดเงิน” มักพบผื่นขึ้นบริเวณลำตัว เข่า ศอก และหนังศีรษะ บางรายอาจพบผื่นกระจายทั่วร่างกายได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอาจพบว่ามีความผิดปกติของเล็บและมีข้ออักเสบร่วมด้วยได้
การรักษาโรคสะเก็ดเงินขึ้นกับความรุนแรงของโรค หากผื่นมีความรุนแรงน้อย สามารถรักษาโดยการใช้ยาทา เช่น ยาทากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาทากลุ่มน้ำมันดินหรืออนุพันธ์วิตามินดี หากผื่นมีความรุนแรงมาก สามารถรักษาโดยการฉายแสงอาทิตย์เทียมหรือรับประทานยา
สำหรับการฉายแสงอาทิตย์เทียมนั้น จะใช้รังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งปัจจุบันที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ รังสีอัลตราไวโอเลต A และรังสีอัลตราไวโอเลต B ซึ่งผู้ป่วยต้องมารับการรักษา 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน โดยจะให้ผลดีประมาณ 70 - 80% ขึ้นไป พบผลข้างเคียงน้อย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันและแดงบริเวณผิวหนังที่ฉายแสงหลังทำการรักษา ข้อดีคือ ส่วนใหญ่การกลับเป็นซ้ำของโรคจะน้อยกว่าการรักษาโดยใช้ยาทาหรือยารับประทาน
กรณีผู้ป่วยมีผื่นจำนวนมากกระจายบริเวณกว้างและไม่สะดวกมาฉายแสง แพทย์อาจพิจารณาให้ยารับประทาน เช่น methotrexate, cyclosporine หรือ acitretin ซึ่งยาเหล่านี้มีประสิทธิภาพดี แต่อาจมีผลข้างเคียงต่อตับและไต จึงต้องเจาะเลือดตรวจเป็นระยะๆ
กรณีสะเก็ดเงินมีความรุนแรงมาก แม้ใช้การฉายแสงหรือรับประทานยาแล้วยังไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณายาฉีดกลุ่ม biologic agents ซึ่งบางชนิดฉีดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง บางชนิดอาจฉีดห่างกันทุก 3 เดือน ข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
สิ่งสำคัญในการรักษาโรคสะเก็ดเงินจะให้ได้ผลดี ผู้ป่วยควรเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบ เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงควรเลี่ยงการดื่มสุรา เนื่องจากอาจกระตุ้นให้ผื่นเห่อได้ นอกจากนี้ญาติและผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยควรเข้าใจและให้กำลังใจผู้ป่วยด้วย
|