ออกอากาศ : วันที่ 17 มิถุนายน 2555  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ภาวะไอ จาม ปัสสาวะเล็ด
บทคัดย่อ:

           มีสตรีจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากอาการไอ จาม และมีปัสสาวะเล็ด หลายคนไม่กล้าที่จะพูดถึงเพราะอาย จะหายจากอาการอย่างนี้ได้อย่างไร  ผศ.นพ.พิชัย  ลีระศิริ  ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา มีคำตอบค่ะ

           ภาวะไอ จาม และปัสสาวะเล็ดโดยไม่ตั้งใจ และไม่สามารถควบคุมได้นั้น เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสตรีทั่วไปและมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต  สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดท่อปัสสาวะเสื่อมประสิทธิภาพ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ได้แก่

  • อายุ ในสตรีที่อายุมากขึ้นจะพบอุบัติการณ์ของภาวะนี้ได้มากขึ้น
  • การตั้งครรภ์ ในขณะตั้งครรภ์จะพบภาวะปัสสาวะเล็ดได้ในบางราย แต่เป็นการเกิดชั่วคราว และอาจจะหายได้หลังจากคลอดบุตรแล้ว
  • การคลอดบุตร  มักพบในรายที่ทารกคลอดผ่านช่องคลอดและสัมพันธ์กับระยะเวลาคลอด โดยเฉพาะในรายที่ทารก มีน้ำหนักแรกคลอดมาก
  • จำนวนบุตรที่มากขึ้น  จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นตามลำดับ
  • ภาวะที่เพิ่มความดันในช่องท้อง  ได้แก่ ความอ้วน   ไอ จาม หอบเรื้อรัง  ท้องผูก  ยกของหนักเป็นประจำ

              ในเบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัย โดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย หรือตรวจภายใน หรือส่งตรวจพิเศษเพื่อยืนยันว่ามีภาวะนี้จริง  แล้วจึงทำการรักษา  ซึ่งการรักษามีหลายวิธี เริ่มตั้งแต่      
              1. การปรับพฤติกรรม เช่น การลดน้ำหนักรักษาอาการไอ  จามเรื้อรัง  แก้ไขภาวะท้องผูก
              2. โดยการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน  ด้วยการขมิบช่องคลอด  ซึ่งสามารถทำได้ในทุกอิริยาบถ โดยการขมิบที่ถูกต้อง    ขมิบเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานเท่านั้น  คล้ายกับเวลากลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะ โดยไม่เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องหรือ    ต้นขาร่วมด้วย ขมิบแต่ละครั้งทำค้างไว้ 10 - 20 วินาที แล้วคลายออกในเวลาเท่ากัน แล้วจึงเริ่มขมิบใหม่ สามารถทำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ  โดยระยะแรกอาจทำเพียงน้อยครั้ง  แล้วจึงเพิ่มขึ้นทั้งระยะเวลาและความถี่เมื่อชำนาญมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม หากท่านไม่แน่ใจว่าจะขมิบได้ถูกต้องหรือไม่ สามารถปรึกษาแพทย์ได้ 
              3. การใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้หดรัดตัว  ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยตนเองได้หรือทำได้ไม่ถูกวิธี  วิธีนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเฉพาะ

              ซึ่งการรักษาทั้ง 3 วิธี เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการจะดีขึ้นภายใน 3 - 6 เดือน แต่ถ้ารักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น  ต้องใช้การผ่าตัดเข้าช่วย  ซึ่งมีอยู่  2 วิธีด้วยกัน  
              1. การผ่าตัดผ่านทางหน้าท้อง โดยการเย็บซ่อมแซมและตึงเนื้อเยื่อรอบท่อปัสสาวะเข้าเอ็นที่ยึดบริเวณใกล้เคียงให้มีความแข็งแรงขึ้น
              2. โดยใช้วัสดุเทปสังเคราะห์ผ่านทางช่องคลอด  แล้ววางที่ใต้ต่อท่อปัสสาวะเพื่อเสริมความแข็งแรง  วิธีนี้ได้รับความนิยมในปัจจุบันเมื่อเทียบกับการผ่าตัดทางหน้าท้อง เนื่องจากทำได้รวดเร็ว สะดวก ฟื้นตัวเร็ว และยังไม่มีแผลหน้าท้อง   แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีใด  อย่ากลัว อย่าอาย หมอช่วยได้ค่ะ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช