ออกอากาศ : วันที่ 27 พฤษภาคม 2555  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: รู้เท่าทัน ป้องกันโรคปริทันต์
บทคัดย่อ:

          มีผู้คนไม่น้อยที่เจ็บปวดด้วยโรคปริทันต์หรือรำมะนาด เพื่อให้คุณรู้จักดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ ทพญ.ฉัตรแก้ว  บริบูรณ์หิรัญสาร งานทันตกรรม มีความรู้มาฝากค่ะ

           โรคปริทันต์อักเสบ หรือ “รำมะนาด” สาเหตุเริ่มต้นมาจากการทำความสะอาดฟันไม่ดีพอ ทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรีย เมื่อทิ้งไว้นานขึ้นจะมีการตกตะกอนของแร่ธาตุจากน้ำลาย จนกลายเป็น “หินปูน” หรือ หินน้ำลาย ที่ไม่สามารถแปรงออกได้ หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดการทำร้ายเหงือกได้อย่างรุนแรงนะคะ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นโรคปริทันต์นะคะ เนื่องจากเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันของแต่ละคนด้วย  โดยธรรมชาติร่างกายจะหลั่งสารออกมาเพื่อกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา ขณะเดียวกันก็ทำร้ายเนื้อเยื่อของตัวเองด้วย จึงเกิดเป็นโรคปริทันต์ขึ้น แต่หลายคนมักเข้าใจว่า เป็นเพียงโรคเหงือกอักเสบเท่านั้น แท้ที่จริงแล้ว การอักเสบนั้น  จะลุกลามทำลายอวัยวะรอบ ๆ ฟันด้วย เช่น กระดูกเบ้าฟัน  เอ็นยึดฟัน  และผิวรากฟัน  ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคปริทันต์รุนแรง ฟันจะโยกและอาจทำให้สูญเสียฟันได้

              สัญญาณอันตรายเมื่อเกิดโรคปริทันต์ คือ มีเลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน เหงือกบวมแดง หรือมีหนอง มีกลิ่นปาก ฟันโยก เมื่อมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรมาพบทันตแพทย์ทันที เพื่อการตรวจรักษาที่ถูกต้องและถูกวิธีนะคะ

           สำหรับการรักษาโรคปริทันต์   ขั้นแรกต้องทำการกำจัดเชื้อที่สะสมอยู่ก่อน โดยการขูดหินปูนให้สะอาด และเกลารากฟัน ทำให้ผิวรากฟันเรียบ  โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ร่องเหงือกลึก ๆ และฟันกรามด้านในที่มีหลาย ๆ ราก   ซึ่งขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลา และทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งให้สะอาด  บางรายอาจต้องใช้ยาชาร่วมด้วย   จากนั้น 4  - 6 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะนัดกลับมาดูอาการอีกครั้ง ถ้ายังมีร่องลึกปริทันต์เหลืออยู่ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขความพิการของกระดูกเบ้าฟันที่ถูกทำลายไป ซึ่งการผ่าตัด จะเป็นการเข้าไปทำความสะอาดในตำแหน่งที่เครื่องมือไม่สามารถทำความสะอาดได้ถึง หรือทำการปลูกกระดูกในลักษณะรอยโรคที่เอื้อต่อการเกิดกระดูกใหม่  เมื่อผ่าตัดแล้วผู้ป่วยควรได้รับการตรวจติดตามผลการรักษา และให้ทันตแพทย์ขูดหินน้ำลาย เพื่อทำความสะอาดฟันเป็นประจำทุก ๆ  3  เดือน  เป็นการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นโรคปริทันต์อีกค่ะ
          โรคปริทันต์ สามารถป้องกันได้ ด้วยการทำความสะอาดช่องปากและฟันอย่างถูกวิธี ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันบริเวณซอกฟันทุกครั้ง รวมถึงเลิกสูบบุหรี่  ก็จะช่วยให้มีสุขภาพเหงือกและฟันที่แข็งแรงไปนาน ๆ  ค่ะ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช