ออกอากาศ : วันที่ 20 พฤษภาคม 2555  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: กระดูกสันหลังคด
บทคัดย่อ:

          จากการสอบถามของคุณผู้ชมทางบ้านเรื่องกระดูกสันหลังคดว่า มีวิธีดูแลรักษาอย่างไร วันนี้ รศ.นพ.สุรินทร์ ธนพิพัฒนศิริ  ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด   จะมาเล่าให้ฟังค่ะ

            โรคกระดูกสันหลังคด หมายถึง การผิดรูปของแนวกระดูกสันหลัง ที่มีการคดออกไปด้านข้าง สาเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด ได้แก่  การสร้างและการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่กำเนิด กล้ามเนื้อหรือระบบประสาทผิดปกติ เกิดร่วมกับโรคท้าวแสนปม และสาเหตุอื่นๆ อีกหลายประการ แต่ที่พบบ่อยที่สุด ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดทุกชนิด คือ กระดูกสันหลังคดชนิดที่ไม่พบสาเหตุ มักพบในช่วงอายุระหว่าง 10 - 15 ปี

            อาการของผู้ป่วย คือ มีแนวกระดูกสันหลังไม่ตรง ระดับหัวไหล่ 2 ข้างไม่เท่ากัน ระดับเอวไม่เท่ากัน  ด้านหลังนูน  คิดว่าหลังโก่ง  ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองจึงมักมาพบแพทย์ด้วยความกังวลเกี่ยวกับรูปร่าง มีส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีอาการปวดหลัง

           นอกจากการตรวจดูลักษณะที่ผิดรูปแล้ว แพทย์จะตรวจการทำงานของระบบประสาท และส่งตรวจทางรังสีเพื่อการวินิจฉัย  ประเมินระดับความรุนแรงของกระดูกสันหลังคด   และพิจารณาให้การรักษา  ซึ่งแบ่งได้เป็น 3  แนวทาง  คือ  การสังเกตอาการ การใส่เสื้อเกราะ และการผ่าตัด การสังเกตอาการ ในกรณีที่มีความคดน้อยกว่า 20 - 30 องศา แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิดทุก 4 - 6 เดือน หากมีความคดมากกว่า 30 องศา ควรใส่เฝือกหรือเสื้อเกราะให้รัด กระชับ เพื่อดัดกระดูก     สันหลัง ป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น  โดยใส่ประมาณ 23 ชั่วโมงต่อวัน ยกเว้นเวลาอาบน้ำ การใส่เสื้อเกราะจะต้องใส่จนกว่าผู้ป่วยหยุดการเจริญเติบโต และค่อยๆ ลดจำนวนชั่วโมงที่ใส่ลงจนแน่ใจว่า กระดูกสันหลังไม่คดมากขึ้นจึงจะหยุดใส่        ส่วนการรักษาด้วยการผ่าตัด  จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระดูกคดมากกว่า 45 องศา ในวัยกำลังเจริญเติบโต หรือมากกว่า 50 - 55 องศา ในวัยที่หยุดการเจริญเติบโต โดยการใช้โลหะดามกระดูกสันหลัง จัดกระดูกสันหลังให้ตรงขึ้นและเชื่อมข้อกระดูกสันหลังให้ติดแข็งในแนวที่จัดไว้  ซึ่งหลังผ่าตัดควรงดกิจกรรมที่เคลื่อนไหวด้วยกระดูกสันหลังประมาณ 6 - 9 เดือน เช่น การก้ม บิดตัว   แล้วจึงออกกำลังกายที่ไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ   เช่น   ว่ายน้ำ   เดิน   เป็นต้น

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช