ออกอากาศ : วันที่ 13 พฤษภาคม 2555  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ข้อบ่งชี้การใช้ยาสามัญประจำบ้าน
บทคัดย่อ:

          การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยของแต่ละคน ย่อมมีข้อจำกัดในเรื่องของชนิดยา และขนาดของยาที่แตกต่างกัน  ดังนั้นเพื่อให้การใช้ยามีประสิทธิภาพ  ผศ.พญ.สมฤดี  ฉัตรสิริเจริญกุล ภาควิชาเภสัชวิทยา  มีคำแนะนำมาบอกค่ะ

         การใช้ยาถ้าเป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย หรือยังไม่สามารถไปพบแพทย์ได้ และจำเป็นต้องใช้ยาสามัญประจำบ้านที่มีอยู่ยิ่งจำเป็นต้องทราบวิธีใช้  และข้อควรระวัง  เพราะยาบางชนิดแม้จะมีประโยชน์ในการบรรเทาอาการเจ็บป่วย แต่ถ้าใช้ไม่ถูกก็จะเป็นอันตรายได้เช่นกัน

         ตัวอย่างเช่น พาราเซตามอล เป็นยาลดไข้แก้ปวดที่ใช้กันมากที่สุด มีความปลอดภัย ไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร แต่ก็ไม่ควรใช้ยาเกิน 8 เม็ดต่อวัน  และในเด็กให้ใช้ 10  - 15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม   สิ่งสำคัญคือ  ถ้าใช้ยาเกินขนาด เช่น มากกว่า 20 เม็ดต่อวัน  จะเป็นพิษต่อตับ และทำให้ตับวาย อันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ

          ส่วน คลอร์เฟนิรามีน เป็นยาที่ใช้ลดน้ำมูกใส ๆ และบรรเทาอาการแพ้ หรืออาการคัน  ยานี้จะทำให้ง่วงนอน  จึงไม่ควรใช้ถ้าต้องขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรกล เพราะอาจเกิดอันตรายได้ และการใช้ยาอาจทำให้คอแห้ง ใจสั่น หรือมีเสมหะเหนียวข้น ขับออกยาก ผู้ที่ไอและมีเสมหะจึงไม่ควรรับประทานยาชนิดนี้

            และยาที่นิยมใช้แก้ไอ ชนิดน้ำดำ  ที่ถูกต้อง ควรรับประทานตามเวลาที่กำหนด คือวันละ 3 - 4 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่มักใช้จิบเวลาไอ ซึ่งจะทำให้ได้รับทิงเจอร์ฝิ่นมากเกินไป  เกิดอาการง่วง มึนงง คลื่นไส้ ท้องผูก และต้องระวัง หากนำไปใช้กับผู้ที่ไอและมีเสมหะเหนียว หรือไอจากหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ จะทำให้เสมหะเหนียวข้นมากขึ้นและไปอุดกั้นทางเดินหายใจทำให้หยุดหายใจได้เช่นกัน

             สำหรับการรับประทานยาให้ได้ผล ถ้าเป็นยาก่อนอาหาร ให้รับประทานในช่วงท้องว่าง ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้ยาถูกดูดซึมและออกฤทธิ์ได้เต็มที่ ส่วนยาหลังอาหาร โดยทั่วไปควรรับประทานหลังอาหาร ประมาณ 15 - 30 นาที ยกเว้นยา      บางชนิดที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ควรรับประทานหลังอาหารทันที สำหรับยาก่อนนอน ควรรับประทานก่อนเข้านอนประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง จะช่วยให้ยาออกฤทธิ์ในช่วงกลางคืน

             อย่างไรก็ตามเนื่องจากยามีหลากหลายชนิดและมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนั้นการใช้ยาควรเพิ่มความระมัดระวัง ใช้ยาให้ถูกโรค ถูกคน  ถูกเวลา และถูกขนาด ตามที่แพทย์หรือเภสัชกรกำหนด และไม่ควรวิเคราะห์สาเหตุของโรคแทนผู้อื่น หรือ   นำยาที่ตนเองเคยใช้ไปให้ผู้อื่นรับประทาน   ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาโดยไม่รู้ตัว

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช