อาการไอเกิดขึ้นได้กับเด็กในทุกช่วงวัย และมีหลายแบบ ซึ่งการไอจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจได้อย่างไร ศ.พญ.นวลอนงค์ วิศิษฏสุนทร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มีความรู้มาฝากค่ะ
อาการไอส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ที่มักพบได้บ่อยคือ โรคหวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้เด็กมีไข้ น้ำมูกไหล มีอาการคันและระคายคอ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไอ อาการไอแบ่งได้ 3 ประเภท คือ 1. ไอแห้ง ๆ 2. ไอแบบระคายคอ และ 3. ไอแบบมีเสมหะ ซึ่งอาจเกิดจากการที่เด็กมีน้ำมูกแล้วสูดลงคอจนเกิดอาการไอ
ในเด็กวัยทารก อาการไอโดยไม่มีไข้อาจเกิดจากความผิดปกติ หรือความพิการแต่กำเนิด ในเด็กเล็ก ควรคิดถึงสาเหตุจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดบวม รวมทั้งการติดเชื้ออื่นๆ เช่น เชื้อวัณโรค โรคไอกรน แต่ถ้าไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาจเกิดจากการสำลักสิ่งแปลกปลอมลงไปในหลอดลม หรืออาจเกิดจากหลอดลมมีความไวกว่าปกติซึ่งเป็นผลมาจากโรคหืด แต่ถ้าเป็นการไอในเด็กโตหรือวัยรุ่น อาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวม หรือ ไซนัสอักเสบ หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การแพ้ตัวไรในฝุ่นละอองในผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือหลอดลมอักเสบจากโรคหืด หรืออาจเกิดจากการระคายเคือง เช่น จากควันบุหรี่ เป็นต้น
แต่ถ้าเป็นการไอจากการที่มีน้ำมูกมาก การล้างจมูกหรือหยอดจมูกด้วยน้ำเกลือ ร่วมกับการให้ยาลดน้ำมูกที่เหมาะสมจะทำให้อาการดีขึ้น ส่วนการไอที่เกิดจากหวัด จะดีขึ้นเมื่อโรคหวัดทุเลาลงค่ะ ที่น่าเป็นห่วงคือ อาการไอตลอดทั้งวันแม้กระทั่งตอนนอน สันนิษฐานว่าเป็นโพรงจมูกอักเสบหรือที่เรียกกันว่าไซนัสอักเสบ ถ้าหากไอเฉพาะเวลากลางคืน อาจเกิดจากภาวะหอบจากโรคหืด หรือเป็นโรคภูมิแพ้ ควรพามาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
หากบุตรหลานของท่านมีอาการไอ ควรให้ดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำในอุณหภูมิปกติ หลีกเลี่ยงน้ำเย็น และน้ำแข็ง เพราะอาจทำให้อาการไอเพิ่มมากขึ้น กินอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย เพื่อลดการอาเจียนที่อาจเกิดร่วม และพักผ่อนให้เพียงพอ แต่ถ้าไม่อยากไอล่ะก็ ระวังอย่าให้เป็นหวัด โดยหมั่นออกกำลังกาย จะช่วยให้มีสุขภาพปอดที่แข็งแรงขึ้นค่ะ
|