ออกอากาศ : วันที่ 29 มกราคม 2555  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: การผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
บทคัดย่อ:

          ปัจจุบันพบว่าอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมลูกหมากมีมากขึ้น การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือที่เรียกว่า PSA นั้น   รศ.นพ.ไชยยงค์  นวลยง ภาควิชาศัลยศาสตร์ ยืนยันว่าสามารถช่วยให้ตรวจพบมะเร็งได้ในระยะเริ่มต้น  ซึ่งมีโอกาสรักษาหายขาดได้ โดยวิธีผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกหรือการฉายรังสีรักษา ซึ่งในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 70 ปี   หรือยังมีสุขภาพแข็งแรง การผ่าตัดเพื่อเอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด ถือเป็นวิธีการรักษาที่ดี มีประสิทธิภาพ และมีโอกาสหายจากมะเร็งได้สูง
           สำหรับการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในปัจจุบันเราใช้การผ่าตัดด้วยกล้อง โดยเจาะผ่านช่องท้อง เพราะช่วยลดอาการเจ็บแผลหลังผ่าตัดลงไปมาก  เนื่องจากแผลผ่าตัดเป็นแผลเจาะรู ระยะเวลาฟื้นตัวหลังผ่าตัดสั้นลง หรือถ้าเป็นการรักษาทันยุค จะใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งวิธีนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเห็นเป็นภาพ 3 มิติ มีความแม่นยำในการผ่าตัดสูงมาก  ทั้งนี้แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ จะช่วยให้ผู้ป่วยกลั้นปัสสาวะได้ดี และคงสมรรถภาพทางเพศไว้ได้ดีกว่า เนื่องจากขณะผ่าตัด สามารถเห็นภาพขยายของท่อปัสสาวะและใยเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ชัดเจนกว่า
           สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มต้น อาจจะไม่มีอาการ แต่ถ้ามีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน  ปัสสาวะลำบาก   มีอาการปวดเวลาปัสสาวะ  มีเลือดในน้ำเชื้อหรือปัสสาวะ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดในผู้ป่วยที่ต่อมลูกหมากโตหรือต่อมลูกหมากอักเสบ และอาจจะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย
            ดังนั้นผู้ชายไทยอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จึงควรได้รับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากประจำปีแม้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ตาม  และหากพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้น การผ่าตัดในปัจจุบันสามารถช่วยรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีผ่าตัดทั่วไป  ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและเจ็บตัวน้อยลง

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช