ออกอากาศ : วันที่ 15 มกราคม 2555  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคผิวหนังที่มากับน้ำ
บทคัดย่อ:

              ภาวะน้ำท่วมขัง  อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนังได้หลายชนิด  แต่ละชนิดมีลักษณะอาการแตกต่างกันไป  อ. พญ.สุเพ็ญญา  วโรทัย   ภาควิชาตจวิทยา มีความรู้มาฝากค่ะ
             โรคผิวหนังชนิดแรกที่จะเกิดหลังการสัมผัสน้ำสกปรกอย่างต่อเนื่อง คือ โรคน้ำกัดเท้า เนื่องจากสิ่งสกปรกและสารเคมีต่างๆ ที่ปะปนอยู่ในน้ำท่วมขัง  ผิวหนังจะมีอาการผื่นแดง แสบ คัน และอาจมีขุยลอกได้ โดยเฉพาะที่บริเวณซอกนิ้วเท้า  การรักษาเบื้องต้นคือการใช้ยาทาแก้ผื่นคัน เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนังจะช่วยลดอาการขุยคันได้  แต่ไม่ควรใช้ขี้ผึ้งรักษาโรคเชื้อราชนิดที่มีฤทธิ์กัด  เนื่องจากจะเพิ่มการระคายเคืองต่อผิวหนังทำให้แสบและคันมากขึ้น หากมีอาการของน้ำกัดเท้าต่อเนื่อง ผิวที่เปื่อยลอกจะติดเชื้อราได้ และมีอาการผื่นแดง แฉะ  มีขุยขาวลอกบริเวณซอกนิ้ว หรือเป็นชนิดผื่นหนา  เปื่อยยุ่ย  ลอกเป็นขุยทั้งที่ฝ่าเท้าและซอกนิ้ว  มีกลิ่นเหม็น หรือที่เรียกว่า ฮ่องกงฟุต หากเป็นเรื้อรัง ผื่นจะหนาขึ้นเรื่อยๆ และยากต่อการรักษา การรักษาเชื้อราที่ผิวหนังให้ได้ผล  ต้องทายาฆ่าเชื้อราอย่างสม่ำเสมอ  และควรทายาต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์  หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์เช็ดบริเวณผื่น เพราะจะทำให้ผิวแห้งและคันมากขึ้น ที่สำคัญควรรักษาความสะอาดและให้เท้าแห้งอยู่เสมอจะช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคได้
             นอกจากการติดเชื้อราแล้ว  ภาวะที่ผิวหนังมีการอับชื้นอยู่เป็นเวลานานๆจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นตื้นๆ  ทำให้ผิวหนังเปื่อยยุ่ยเป็นหลุมเล็กๆ  ซึ่งไม่มีอันตรายร้ายแรงนอกจากจะมีกลิ่นเหม็น แต่หากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นลึก ซึ่งมักเกิดตามหลังการมีบาดแผลถลอกหรือแผลถูกทิ่มตำโดยของมีคมใต้น้ำ  จะเป็นโรคกลุ่มไฟลามทุ่ง ผิวหนังจะบวมแดงร้อน  กดเจ็บและต่อมาลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง อาจมีไข้สูงและต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต  ดังนั้นหากมีอาการติดเชื้อในผิวหนังชั้นลึก ต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจจำเป็นต้องให้ยาฆ่าเชื้อ ทางเส้นเลือด การป้องกันทำได้โดย  หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำท่วมขัง แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้  หลังสัมผัสน้ำสกปรกต้องรีบล้างทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำสะอาดและสบู่แล้วเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า หมั่นสำรวจผิวหนังให้ทั่ว  หากมีแผลถลอกต้องรีบเช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และหากเป็นแผลลึกถูกของมีคมทิ่มตำอาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วย ฉะนั้นการดูแลตนเองในเบื้องต้นอย่างถูกวิธี จะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่จะตามมาได้

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช