ออกอากาศ : วันที่ 8 มกราคม 2549  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ตาบอดสี
บทคัดย่อ: "ตา" เป็นอวัยวะจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข หากเกิดความผิดปกติในการมองเห็นก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตได้ ดังเช่นภาวะของ ตาบอดสี รศ.พญ.ละอองศรี  อัชชะนียสกุล ภาควิชาจักษุวิทยา อธิบายว่า  ความสามารถในการรับรู้และแยกความแตกต่างระหว่างสีต่าง ๆ ในแต่ละบุคคลนั้นอาจแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเซลล์รับแสงสี (cone photoreceptor) ที่จอประสาทตาโดยสัมพันธ์กับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ถูกสอนมา ดังนั้น เราอาจเห็นสีผิดปกติตั้งแต่เกิด แต่สามารถเรียกชื่อสีได้ถูกต้องตามผู้สอนก็เป็นไปได้ หรือเกิดจากโรคภัยต่าง ๆ ที่มีผลโดยตรงกับจอประสาทตา  เส้นประสาทตาและสมอง ความผิดปกติของตาบอดสีนั้นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

    1. กลุ่มที่มีความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด ตาทั้ง 2 ข้างจะมีอาการมองเห็นสีผิดปกติเหมือนกัน คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงโดยทั่วไป จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ทั้งนี้เพราะความผิดปกติของเม็ดสีและเซลล์รับแสงสีเขียวหรือแดง  ถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรมในเพศชาย  ผู้ป่วยมักมีการรับรู้สีเขียวหรือแดงผิดไป แยกสีเขียวกับแดงได้ลำบาก

    2. กลุ่มที่มีความผิดปกติที่เกิดขึ้นมาภายหลัง เกิดจากการถูกทำลายของจอประสาทตา เส้นประสาทตา หรือส่วนรับรู้ในสมอง จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การอักเสบ ภาวะขาดเลือดอุบัติเหตุ เนื้องอก การเสื่อมลงของจอประสาทตา หรือผลข้างเคียงจากยาหรือสารเคมี ผู้ป่วยมักจะมีอาการเรียกชื่อสีหรือเห็นสีผิดไปจากเดิม โดยมากพบความผิดปกติของการมองสีน้ำเงินเหลืองมากกว่าแดงเขียว ความผิดปกติของตาทั้ง 2 ข้างจะไม่เท่ากัน อาจเป็นตาเดียวหรือทั้ง 2 ตา สำหรับการตรวจรักษานั้น  หากเป็นแบบที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ยังไม่พบวิธีรักษาที่ได้ผล ส่วนประเภทที่เกิดจากโรคต่าง ๆ ที่มีผลต่อจอประสาทและเส้นประสาทตา เมื่อเกิดอาการมองเห็นสีผิดปกติไปให้รีบมารับการตรวจรักษา อาจป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติถาวรได้  ผู้ป่วยที่มีภาวะตาบอดสีแต่กำเนิด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำถึงโอกาสการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและโอกาสหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะตาบอดสีในหมู่ญาติ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช