ชีวิตของคนเรามีโอกาสจะพบทั้งเรื่องดี เรื่องไม่ดี ทำให้มีปัญหาทางความเครียด การเปิดใจใช้ปัญญาเพื่อแก้ปัญหา เป็นสิ่งที่ อ.พญ.กมลเนตร วรรณเสวก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ จะให้คำแนะนำแก่ท่าน
ความเครียด เกิดเมื่อเราเผชิญกับสิ่งที่ทำให้ไม่สบายกาย หรือไม่น่าพึงพอใจ ไม่ว่าจะจากการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเกิดความเครียดในระดับน้อย ๆ ถือว่ามีประโยชน์ ทำให้คนเราไม่เฉื่อยชา เป็นแรงขับในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเครียดมากเกินไป ก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจตามมา
วิธีจัดการความเครียด โดยใช้ปัญญาปรับความคิดที่เราอาจจินตนาการปัญหาในทางร้ายเกินจริงจนสร้างความเครียด กดดันให้ตนเอง มาหยุดคิดมองทบทวนปัญหาตามความเป็นจริง โดยใช้เหตุและผล ยึดหลักเดินสายกลาง รู้จักยืดหยุ่น ยอมรับความเป็นจริงและพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงที่ตนเองก่อน ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสพบทางเลือกที่เหมาะสมจนสามารถแก้ไข หรือปรับตัวกับปัญหาได้ดีขึ้น และส่งผลให้ความเครียดลดลงในที่สุด และถึงแม้จะแก้ปัญหาได้ไม่ทันใจ ก็ไม่ควรท้อ เพราะปัญหาที่ทำให้เกิดความเครียดในบางเรื่องต้องใช้เวลาและโอกาสในการแก้ไขค่ะ หรือหากเครียดมากเกินไป จนไม่พร้อมที่จะสามารถคิดหาทางแก้ปัญหาได้ในขณะนั้น ก็อาจใช้วิธีพักเรื่องที่เครียดไว้ชั่วคราวก่อน หรือออกไปจากสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นั้น โดยไปพักทำกิจกรรมที่สร้างความสุข แต่ไม่เกิดโทษ เช่น ไปทำสมาธิ คิดถึงสิ่งที่ทำให้มีความสุข ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยว อ่านหนังสือ เพื่อให้เกิดความรู้สึกดีๆ ผ่อนคลายได้ทันที ก่อนที่จะกลับมาตั้งหลัก เผชิญปัญหาด้วยสภาพจิตใจและร่างกายที่พร้อมกว่าเดิม อย่างไรก็ดี การป้องกันไม่ให้เกิดความเครียด ทำได้โดยการพูด หรือระบายออกมากับคนคุ้นเคย หรือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่าเก็บความเครียดไว้นาน หรือเก็บไว้มาก ๆ เพราะจะทำให้ยากต่อการแก้ไขนะคะ
|