ปัจจุบันการรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีผ่าตัดส่องกล้อง จะช่วยให้สตรีมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ รศ.นพ.พีรพงศ์ อินทศร ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา สามารถช่วยได้ค่ะ
เป็นที่ทราบกันแล้วนะครับว่า มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส หรือ HPV จากการ มีเพศสัมพันธ์ การรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในระยะแรก จะใช้การผ่าตัดมดลูกทิ้งร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน ซึ่งอัตราการหายหลังผ่าตัดมีถึง 90 % แม้จะให้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ผู้ป่วยก็จะไม่มีประจำเดือน และไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก
ในปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องด้วยอุปกรณ์ชนิดพิเศษ ที่มีขนาดเล็กประมาณ 0.5 เซนติเมตร โดยแพทย์จะเปิดแผลเล็กๆ 5 แผล แล้วสอดกล้องผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปในช่องท้อง เพื่อผ่าตัดเฉพาะปากมดลูกและช่องคลอดส่วนบนทิ้ง และเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกรานออก และในขณะที่ผ่าตัดจะมีแพทย์นำชิ้นเนื้อที่ตัดทิ้งไปตรวจทันทีว่ายังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่หรือไม่ การผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะเก็บรักษาตัวมดลูกและเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก รวมถึง เก็บรักษารังไข่และเส้นเลือดที่มาเลี้ยงรังไข่ และเมื่อตรวจไม่พบเซลล์มะเร็งในมดลูกแล้ว แพทย์จะเย็บปากมดลูกติดกับช่องคลอดที่เหลือ โดยใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 5 ชั่วโมง ข้อดีของการผ่าตัดนี้ ผู้ป่วยจะมีบาดแผลเล็ก เจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวเร็ว เสียเลือดน้อยกว่า และมีความแม่นยำสูง ใช้เวลาพักฟื้น 7-10 วัน ที่สำคัญ ยังมีมดลูกและประจำเดือนสำหรับการมีบุตรในโอกาสต่อไปด้วย ซึ่งอัตราการหายจากมะเร็งปากมดลูกมีสูงถึง 90% เช่นเดียวกับการรักษาแบบผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
เป็นที่น่าวิตกว่าบ้านเรายังคงพบมะเร็งปากมดลูกในสตรีวัยเจริญพันธุ์อยู่เสมอ เนื่องจากความละเลยและความเข้าใจผิดว่าตัวเองมิใช่กลุ่มเสี่ยง ซึ่งโดยธรรมชาติของมะเร็งปากมดลูก ถ้าเป็นระยะเริ่มต้นจะไม่มีอาการอะไร จึงทำให้ผู้ป่วยมากกว่า 80% มาพบแพทย์เมื่อมะเร็งลุกลามไปแล้ว โดยที่การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุปากมดลูกจนกลายเป็นมะเร็ง ใช้เวลาเป็น 10 ปี ดังนั้นการป้องกันมะเร็งปากมดลูกยังเป็นสิ่งจำเป็นที่คุณๆ ผู้หญิงควรใส่ใจอยู่เสมอ ด้วยวิธีง่ายๆ และประหยัด นั่นคือ การตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หากพบความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกหรือมะเร็งระยะเริ่มแรก จะสามารถรักษาหายขาดได้ และแม้ภายหลังจากที่ตรวจแล้ว ไม่พบความผิดปกติ ก็ควรรับการตรวจเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ โดยสตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรรับการตรวจปีละ 1 ครั้ง ส่วนผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรรับการตรวจเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป
|