บทคัดย่อ:
|
โรคเลือดออกในสมอง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน พบมากในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 - 3 เท่า จากตัวเลขที่มีการศึกษากันในหลายประเทศพบว่า ในประชากร 1 แสนคน จะมีผู้ป่วยโรคเลือดออกในสมองประมาณ 10-20 รายต่อปี หมายถึง ในประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 6,000-12,000 รายต่อปีเลยทีเดียว เพราะเหตุใดและจะป้องกันโรคนี้ได้หรือไม่ รศ.นพ.ประจักษ์ ศรีรพีพัฒน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ มีคำตอบค่ะ
โรคเลือดออกในสมอง จัดเป็นกลุ่มหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมองร่วมกับโรคสมองขาดเลือด สาเหตุหลักมาจากภาวะความเสื่อมของหลอดเลือดสมองจากอายุที่มากขึ้นร่วมกับโรคประจำตัว ที่สำคัญคือ โรคความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่เป็นเวลานาน ภาวะแข็งตัวของเลือดบกพร่อง รวมถึงการใช้ยาป้องกันเลือดแข็งตัวบางชนิด แต่ในปัจจัยทั้งหลาย อายุที่มากขึ้นร่วมด้วยโรคความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน ยังคงเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคนี้
อาการของโรคเลือดออกในสมอง จะมีลักษณะสำคัญคือ เฉียบพลันและรุนแรง อาการเฉียบพลันที่สังเกตได้ เช่น
1. ปวดศีรษะรุนแรง เฉียบพลัน มักมีอาการร่วมคือ คลื่นไส้ อาเจียน ชัก หรือกระทั่งหมดสติ
2. อ่อนแรง อัมพาต หรือปากเบี้ยวเฉียบพลัน
3. ชาเฉียบพลัน
4. พูดลำบากฉับพลัน
5. ตามัวมองไม่เห็นเฉียบพลัน
6. เสียการทรงตัว และบ้านหมุน วิงเวียนเฉียบพลัน
หากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการข้างต้น ให้พบแพทย์ด่วน เพราะก้อนเลือดในสมองอาจทำให้แรงดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ผู้ป่วยจะซึมลงจนหมดสติ หรือก้อนเลือดกดเบียดบริเวณสำคัญ เช่น ก้านสมอง ทำให้อาการทรุดลงรวดเร็ว นอกจากนี้ก้อนเลือดอาจทำลายเนื้อสมองที่สำคัญโดยตรง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นได้ ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยอย่างเร่งด่วนจึงเป็นสิ่งจำเป็น อาจต้องใช้การผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเลือดออก หรือใช้ยาลดแรงดันในโพรงกะโหลกศีรษะ ลดสมองบวม ทั้งนี้ขึ้นกับขนาด ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
โรคเลือดออกในสมอง ไม่มีวิธีการรักษาใดจะดีกว่าการป้องกัน กล่าวคือ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ต้องระวังควบคุมรักษาโรคความดันโลหิตสูงให้เคร่งครัด ลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น หยุดสูบบุหรี่ โรคนี้นับเป็นภัยเงียบที่ก่อให้เกิดอันตราย การมีความรู้ความเข้าใจจึงมีความสำคัญครับ
|