ออกอากาศ : วันที่ 18 ธันวาคม 2554  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: การดูแลป้องกันภัยจากสัตว์มีพิษ
บทคัดย่อ:

             ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง   ทำให้งูหรือสัตว์มีพิษต่าง ๆ   หนีน้ำ   เข้ามาอาศัยใกล้คนเพิ่มขึ้น   การดูแลป้องกันและปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกสัตว์มีพิษกัด  ทำอย่างไร  ฟังรายละเอียดจาก รศ.นพ.วินัย  รัตนสุวรรณ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม กันค่ะ

         ปัญหาสุขภาพสำหรับผู้ประสบอุทกภัยในแหล่งน้ำท่วมขัง   เป็นเรื่องน่าเห็นใจอย่างมาก  สิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ถูกสัตว์มีพิษกัด  ที่พบบ่อยคือ  งู โดยสวมรองเท้าหุ้มข้อสูง แทนการใส่รองเท้าแตะ  จัดการพื้นที่ส่วนที่รกรุงรังให้เป็นระเบียบ  ไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของงู และสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น   แต่ถ้าถูกงูกัด   การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ใช้เชือกรัดเหนือบาดแผลประมาณ  5-15 ซม. รัดให้พอสอดนิ้วเข้าไปได้ อย่ารัดแน่นจนเกินไป เพียง    รัดเพื่อกันไม่ให้พิษงูดูดซึมเข้าสู่ท่อน้ำเหลือง เส้นเลือดดำ และไหลเข้าสู่หัวใจ  ถ้าหากว่าต้องใช้เวลานานกว่าจะพบแพทย์    ก็ควรจะเปลี่ยนบริเวณที่รัดเชือก โดยรัดอีกเปราะหนึ่งเหนือที่รัดครั้งแรก แล้วจึงคลายเปราะเดิมออก จัดท่าให้ส่วนที่งูกัดอยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจ  โดยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวน้อยที่สุด จะได้ไม่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ที่จะทำให้พิษเข้าสู่หัวใจได้เร็วขึ้น  แล้วทำความสะอาดบาดแผลที่ถูกงูกัดด้วยน้ำสะอาด หรือแอลกอฮอล์ ซึ่งอาการของพิษงูจะเกิดได้ตั้งแต่ 15-30 นาที หรืออาจนานถึง 9 ชั่วโมง จึงต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะถ้าถูกงูมีพิษกัด ให้สังเกตรอยเขี้ยว จะมีลักษณะเป็นแผลลึก 2 รอย สำหรับพิษของตะขาบ  มักทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง ไม่รุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิต  ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ จากนั้นประคบเย็นเพื่อลดอาการปวดบวม แต่ถ้าบวมมากจนเนื้อเริ่มดำต้องรีบมาพบแพทย์ เพราะอาจกลายเป็นเนื้อตายจนต้องตัดทิ้ง  ไม่ว่าจะถูกสัตว์มีพิษใดกัด การปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกต้องก่อนถึงมือแพทย์เป็นสิ่งสำคัญและควรใส่ใจ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช