ออกอากาศ : วันที่ 4 ธันวาคม 2554  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ทำอย่างไรเมื่อน้ำท่วมบ้าน
บทคัดย่อ:

           หลายคนเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วม และเมื่อน้ำท่วม บางบ้านอยู่ได้ บางบ้านอยู่ไม่ได้ การเตรียมความพร้อมเพื่อความปลอดภัย เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น รศ.นพ.ประเสริฐ  อัสสันตชัย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม  จะมาแนะนำค่ะ

           อันตรายที่มากับน้ำท่วมส่วนใหญ่ คือ การจมน้ำ  ดังนั้นจึงไม่ควรเดินลุยน้ำไปในที่ที่ไม่คุ้นเคย เพราะอาจตกท่อระบายน้ำ หรือของมีคมบาดเท้า ทั้งยังลดความเสี่ยงจากการถูกงู จระเข้ หรือสัตว์ที่เป็นอันตราย รวมทั้งห้ามไม่ให้เด็กเล่นน้ำเพื่อป้องกันการจมน้ำ แต่ถ้าจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ต้องสวมรองเท้ากันของมีคมบาด และใช้ไม้ยันพื้นนำทาง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีหลุมและป้องกันการลื่นหกล้ม หากประสบอุบัติเหตุ ควรล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงไม่ให้บาดแผลสัมผัสน้ำท่วมขัง เพราะอาจปนเปื้อนสิ่งปฏิกูล สารเคมี หรือเชื้อโรค ที่สำคัญคือ โรคฉี่หนู

           นอกจากนี้ยังมีอันตรายจากไฟดูด ไฟช๊อต ถ้ายังอยู่ในบ้าน ควรตัดสวิตซ์ไฟทันที โดยเฉพาะชั้นล่างที่น้ำจะท่วมถึง บ้านที่มีเครื่องตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ ต้องตรวจสอบให้อยู่ในสภาพการใช้งานได้ดี เพราะน้ำเป็นสื่อนำกระแสไฟอย่างดี เมื่อถูกไฟดูดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้  และถ้าต้องเดินลุยน้ำออกไปนอกบ้าน ต้องเดินให้ห่างจากแหล่งกระแสไฟฟ้า เช่น เสาไฟฟ้า    ตู้ไฟฟ้าแรงสูง อย่างน้อย 3 เมตร

           สำหรับผู้ที่ยังพออาศัยอยู่ในบ้านได้  จัดหาน้ำดื่มเฉลี่ย 2,000 ซีซี ต่อคนต่อวัน  เตรียมอาหารที่เก็บได้นานและมีประโยชน์ พร้อมบริโภคให้พอเพียงสำหรับคนในบ้าน เช่น เมล็ดธัญพืชหรือข้าวอบแห้ง ซีเรียล ถั่วต่าง ๆ  ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ข้าวเหนียวจะอยู่ได้นานกว่าข้าวเจ้า หรือเป็นเนื้อสัตว์แห้ง เช่น หมูหยอง ปลากรอบ เนื้อตากแห้ง  ผักผลไม้ที่เก็บได้นาน เช่น แครอท ฟักทอง แตงกวา กะหล่ำปลี มันฝรั่ง กระเทียม หัวหอม ส้ม แอปเปิ้ล มะม่วงดิบ กล้วยสีเขียว ถ้ามีเด็กเล็กให้เตรียมนมผง ผู้ที่กินยาเป็นประจำต้องจัดเก็บยาให้เพียงพอและสามารถหยิบได้ง่าย หากมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ให้ขอความช่วยเหลือจากระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และควรเตรียมถุงดำสำหรับเก็บอุจจาระทิ้ง กรณีที่ส้วมใช้งานไม่ได้

           กรณีที่เป็นบ้านชั้นเดียว และน้ำท่วมสูง ไม่สามารถอยู่ในบ้านได้  สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ตั้งสติ ดูแลผู้สูงอายุและเด็กให้อยู่ในที่ปลอดภัย ตัดไฟฟ้า เก็บสิ่งของสำคัญๆ และจำเป็นติดตัวไปด้วย เช่น ยาประจำตัว แว่นตา บัตรประชาชน บัตรเครดิต ไฟฉาย ทรัพย์สินมีค่า และเสื้อผ้าเท่าที่จำเป็น ปิดแก๊ส ปิดน้ำ ของที่เก็บได้ให้ผูกยึดติดกันไว้ ปิดบ้านให้ปลอดภัยเมื่ออพยพออกจากบ้าน หากระดับน้ำท่วมสูงและไหลเชี่ยว ควรใช้เรือ แม้น้ำท่วมในครั้งนี้จะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่            ประเทศ แต่คนไทยไม่ทิ้งกัน ช่วยเหลือกัน เหล่านี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการฟื้นฟูและเยียวยาคนในประเทศทีเดียว

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช