ออกอากาศ : วันที่ 6 พฤศจิกายน 2554  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: แนะวิธีการช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ
บทคัดย่อ:

         จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ทำให้มีผู้ประสบภัยทางน้ำ และจมน้ำเป็นจำนวนมาก   ซึ่งในเบื้องต้นเรามีวิธีช่วยชีวิตผู้จมน้ำจาก อ.นพ.เข็มชาติ  หวังทวีทรัพย์  ภาควิชาวิสัญญีวิทยา มาแนะนำค่ะ

           สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตจากการจมน้ำ หลักๆ คือ การขาดออกซิเจน  ไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย โอกาสที่เราจะช่วยเหลือผู้จมน้ำได้คือ เขาจะต้องขาดออกซิเจนในเวลาไม่นาน ถ้าพบว่าเขายังตัวอุ่นอยู่ หรือคาดคะเนว่าตัวเขายังไม่เย็นมาก แสดงว่าเขาจมน้ำไม่นาน คนกลุ่มนี้มีโอกาสดีที่จะสามารถช่วยชีวิตให้ฟื้นคืนชีพได้  อย่าเสียเวลาไปในการพยายามเอาน้ำออกจากร่างของผู้จมน้ำ  ต้องรีบให้ออกซิเจนแก่เขาเป็นอันดับแรก

           เมื่อเราสามารถช่วยเขาขึ้นมาจากน้ำ หรือว่าเราเข้าถึงตัวเขาได้เร็วที่สุด  สิ่งสำคัญคือ ต้องมีคนไปตามระบบฉุกเฉิน เช่น รถพยาบาล หรือคนที่มีความรู้ความสามารถทางการแพทย์มาช่วย  เพราะการช่วยบริเวณที่เกิดเหตุ  ผู้จมน้ำอาจจะไม่รอด เขาอาจจะต้องได้รับยา หรือต้องใช้เครื่องกระตุกหัวใจ เพื่อทำให้เขามีโอกาสรอดเพิ่มขึ้น
โดยหลักการแล้ว  การเริ่มต้นช่วยเหลือเบื้องต้นคือ ปลุก  ถ้าแน่ใจว่าเขาหมดสติ ไม่ตอบสนอง ไม่เคลื่อนไหว หรือไม่หายใจ  อย่าลังเล ช่วยเป่าปากทันที ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเริ่มเป่าปากตั้งแต่อยู่ในน้ำ แล้วเมื่อขึ้นมาอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยแล้ว  ผู้ช่วยเหลือควรจะเป่าปากสลับกับการกดหน้าอกไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะฟื้น หรือจนกว่าคนไข้จะถึงมือแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ  ถ้าผู้ช่วยเหลือไม่สามารถเป่าปากได้ ก็ควรกดหน้าอกอย่างเดียว ซึ่งดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

         วิธีเป่าปาก เราผู้ช่วยเหลือต้องเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง  ด้วยการเงยศีรษะ เชยคาง ประกบปาก แล้วเป่าช้าๆ จนเห็นทรวงอกขยับ 2 ครั้ง ๆ ละ 1 วินาที  ถ้าเป็นไปได้ให้เราเป่าปากสลับเป็น 30 ต่อ 2 คือ กด 30 เป่า 2 ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงมือแพทย์หรือทีมรักษาพยาบาล โดยทั่วไปเมือเราเป่าปากหรือกดหน้าอกไปสักพัก ผู้ช่วยเหลือจะเริ่มล้าหรือเหนื่อย ควรมีผู้ช่วยเหลือคนอื่นมาช่วยสลับหน้าที่เพื่อให้การช่วยเหลือผู้จมน้ำเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

           ทั้งนี้ การป้องกันการจมน้ำที่ดีที่สุดคือ อย่าให้จมน้ำ ระวังกลุ่มเสี่ยงที่สุด คือ เด็กเล็กที่อายุไม่มาก  เพราะเขาไม่เข้าใจ อยากเล่นน้ำ พอจมปุ๊บ  เพียงเวลาไม่มากเด็กก็อาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้  ฉะนั้นระวังอย่าให้เด็กคลาดสายตา และเมื่อไรก็ตามถ้าอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยง ขอให้ทุกคนคำนึงถึงการใช้เสื้อชูชีพ การมีห่วงยาง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจอย่างยิ่ง ท้ายที่สุดเช่นเดียวกับผู้ช่วยเหลือคนจมน้ำ ขอให้ระวังความปลอดภัยของตัวเองในขณะที่ช่วยเหลือด้วย  เราควรช่วยคนจมน้ำโดยที่ตัวเราเองต้องปลอดภัยนะครับ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช