ออกอากาศ : วันที่ 25 ธันวาคม 2548  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: หัดเยอรมันกับการตั้งครรภ์
บทคัดย่อ: หัดเยอรมันเป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัสมีอาการไม่รุนแรงมาก แต่ถ้าเป็นโรคนี้ติดต่อไปสู่หญิงมีครรภ์ก็จะเป็นอันตรายแก่ทารกในครรภ์ อ.นพ.ตวงสิทธิ์  วัฒนการา  ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา อธิบายว่า โรคหัดเยอรมันจะติดต่อถึงกันได้ทางการหายใจ โดยเชื้อในละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยในอากาศถ่ายทอดไปยังผู้ใกล้ชิด อาการแสดงของโรคนั้น ภายหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 14-21 วันจะเริ่มมีไข้ต่ำ ๆ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัวและตามข้อเล็กน้อย หลังจากเป็นไข้ 1-2 วัน จะเกิดผื่นแดงบริเวณใบหน้าแล้วกระจายไปตามลำคอ ตัว แขน ขา บริเวณหลังหูข้างท้ายทอย จะคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตเล็กน้อย กดเจ็บ อาการ ดังกล่าวจะมีอยู่ 2-3 วัน ในบางรายที่อาการปรากฏไม่ชัดเจนจะวินิจฉัยโดยการเจาะเลือดเพื่อดูภูมิคุ้มกัน สำหรับผู้ที่ตรวจเลือดแล้วพบว่ามีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมันแล้วจะไม่ป่วยเป็นโรคนี้อีก  ส่วนผลต่อการตั้งครรภ์ในมารดาจะไม่มีอันตราย  แต่ทารกในครรภ์ที่มารดาติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์อาจจะเกิดความผิดปกติ ถ้าอยู่ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จะพบความพิการที่เห็นได้ชัด คือ ตาเป็นต้อกระจก หรือต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการแต่กำเนิด เด็กตัวเล็กกว่าปกติ เกร็ดเลือดต่ำกว่าปกติทำให้เกิดจ้ำเลือดตามผิวหนัง ตับ ม้ามโต และมีความผิดปกติทางสมอง  การป้องกันที่ดีที่สุดคือ หญิงสาวที่ยังไม่เคยเป็นหัดเยอรมันควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน หญิงขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรกควรหลีกเลี่ยงให้ห่างจากผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าจะเป็นหัดเยอรมัน และถ้าฉีดวัคซีนหัดเยอรมันควรคุมกำเนิดไว้   3 เดือน  นอกจากนี้ เมื่อพิสูจน์ได้แน่ว่าติดหัดเยอรมันในขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก แพทย์มักจะแนะนำให้ทำแท้ง เพราะโอกาสเด็กจะพิการมีถึงร้อยละ 50 ดังนั้นสตรีมีครรภ์เมื่อป่วยเป็นหัดเยอรมันควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช