ออกอากาศ : วันที่ 2 ตุลาคม 2554  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ความดันโลหิตสูง เสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา
บทคัดย่อ:

หากปล่อยให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงนาน ๆ แล้วไม่รักษา อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ อ.พญ.ธนัญญา บุณยศิรินันท์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ อธิบายว่า โดยปกติถ้าพูดถึงกล้ามเนื้อหัวใจหนา หมายถึง การหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่าง ซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและสาเหตุที่ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนากว่า 90% เกิดจากผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นมานานแล้วไม่รักษาหรือรักษาแต่ควบคุมระดับความดันได้ไม่ดี โรคความดันโลหิตสูงทำให้ความดันในหลอดเลือดแดงสูงขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายทำงานหนักและหนาขึ้น เลือดดีจากปอดและหัวใจห้องซ้ายบน ไม่สามารถลงมายังหัวใจห้องซ้ายล่างได้ จะเกิดภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายพองโตและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาในที่สุด ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา ไม่จำเป็นต้องมีอาการผิดปกติใดๆ หากจะมีอาการ ก็จะเป็นอาการเนื่องจากโรคที่เป็นต้นเหตุ เช่น หากเกิดจากโรคความดันโลหิตสูง อาจจะพบว่ามีอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ และเหนื่อยง่ายผิดปกติ หรืออาจมีอาการแน่นหน้าอก นอนไม่หลับ แพทย์สามารถให้การวินิจฉัย โดยซักถามประวัติอาการ ตรวจร่างกาย ตรวจระบบหัวใจและหลอดเลือดโดยละเอียด สำหรับการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา จะเป็นการรักษาตามสาเหตุของโรค เช่น ถ้าเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง จะรักษาโดยการควบคุมอาหารเค็ม ร่วมกับการใช้ยาลดความดันโลหิต การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา อาจไม่ได้ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาลดลงเป็นปกติ แต่ เป็นการป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นสัญญาณเตือนว่าวันข้างหน้า จะทำให้หัวใจโตและการทำงานของหัวใจล้มเหลว เข้าสู่โรคหัวใจระยะสุดท้ายและมีโอกาสเสียชีวิตได้ เพื่อให้ปลอดภัยจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา จึงต้องลดปัจจัยเสี่ยง งดสูบบุหรี่ เพื่อรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยปกติจังหวะการเต้นของหัวใจจะอยู่ที่ 60-80 ครั้งต่อนาที ค่าที่ได้จากการวัดความดันประกอบด้วย เลขตัวบนและตัวเลขล่าง ความดันโลหิตปกติของคนเราจะอยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท หากสูงกว่านี้ จะเป็นความดันโลหิตสูง

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช