ออกอากาศ : วันที่ 28 สิงหาคม 2554  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: เคมีบำบัด รักษามะเร็ง
บทคัดย่อ:

         เคมีบำบัด เป็นยารักษามะเร็งที่มีฤทธิ์ทำลายหรือยับยั้ง การเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง รศ.นพ. ชัยยศ ธีรผกาวงศ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา อธิบายว่า การให้เคมีบำบัด เป็นการให้ยารักษามะเร็งโดยเฉพาะ โดยยาที่ใช้อาจเป็นชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและระยะของโรค รวมทั้งสภาวะของผู้ป่วยด้วย วิธีการให้เคมีบำบัดมีหลายวิธี เช่น การรับประทาน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง ฉีดเข้าบริเวณไขสันหลัง ฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยตรงหรือผสมยาเคมีบำบัดในขวดสารน้ำและให้หยดอย่างต่อเนื่องเข้าหลอดเลือดดำ และฉีดเข้าช่องท้อง ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคและชนิดของยา โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัด 3 ชุดขึ้นไป แต่ละครั้งอาจใช้เวลา 1-2 วันหรือมากกว่า และมีระยะพักของการให้ยาแต่ละครั้งขึ้นกับการรักษา โดยมากจะให้ประมาณ 6 ครั้ง แล้วแต่ชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และการตอบสนองต่อยา ดังนั้นผู้ป่วยต้องมารับยาตามนัดทุกครั้ง หากไม่สามารถมาตามนัดได้ ควรแจ้งแพทย์เพื่อพิจารณาเลื่อนการรักษาและไม่ควรหยุดการรักษาเอง ก่อนรับยาและช่วงระหว่างรับยาแต่ละครั้ง แพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพื่อประเมินความสมบูรณ์ของผู้ป่วย มีการติดตามผลการรักษาเป็นระยะ ๆ โดยการตรวจร่างกาย ตรวจภายใน ตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด ตรวจอัลตราซาวนด์ การตรวจคอมพิวเตอร์สแกน หากผลการรักษาไม่ดีพอ หรือเนื้องอกไม่ยุบ แพทย์จะเปลี่ยนชนิดของยาเคมีบำบัดหรือเปลี่ยนวิธีการรักษาตามความเหมาะสม การรับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารก่อนเริ่มรับยาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ปัสสาวะให้เรียบร้อย ช่วงระหว่างการรับยาให้นอนในท่าที่สบาย ไม่ควรเคลื่อนไหวแขนข้างที่รับยามากเกิน ไป ไม่ปรับหยดของสารน้ำเอง หากสารน้ำหยดเร็ว หรือมีอาการปวดบวมบริเวณที่ได้รับสารน้ำ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที การให้ยาเคมีบำบัด อาจมีผลข้างเคียงในขณะที่กำลังได้รับยาหรือหลังจากได้รับยาแล้ว ผู้ป่วยต้องแจ้งผลข้างเคียงให้แพทย์ทราบทุกครั้ง เพื่อจะได้ปรับขนาดของยาให้เหมาะสม นอกจากนี้ก่อนการให้ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่มีฟันผุ หรือเหงือกอักเสบ ควรพบทันตแพทย์เพื่อรักษาการอักเสบติดเชื้อให้หาย ก่อนเริ่มรับยาเคมีบำบัด

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช