ออกอากาศ : วันที่ 29 พฤษภาคม 2554  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: รำมะนาด อันตรายจากการสูบบุหรี่
บทคัดย่อ:

การสูบบุหรี่นั้นถือเป็นการทำลายสุขภาพ ทั้งต่อผู้สูบเองและผู้อยู่ใกล้ชิด เพราะควันบุหรี่ประกอบด้วยสารพิษมากกว่า 4,000 ชนิด ที่เป็นอันตรายและมีสารก่อมะเร็งไม่ต่ำกว่า 42 ชนิด ส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพในช่องปากด้วย  ทพญ.สุธาสินี  ฉันท์เรืองวณิชย์ งานทันตกรรม รพ.ศิริราช อธิบายว่า การสูบบุหรี่เป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากโดยตรง คือ ทำให้เกิดโรคปริทันต์อักเสบ  หรือ “โรครำมะนาด”  เนื่องจากสารพิษจำพวกนิโคตินในบุหรี่จะทำให้เส้นเลือดฝอยหดตัว  เลือดไปเลี้ยงผิวหนังรวมทั้งริมฝีปากน้อยลง  ทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่มีริมฝีปากที่คล้ำกว่าคนทั่วไปที่ไม่สูบบุหรี่ และมีผลเสียต่อตัวฟัน  เนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก  รวมถึงการเกิดมะเร็งในช่องปากได้ อาการที่พบได้คือ เหงือกเป็นสีแดงช้ำ  มีเลือดออกขณะแปรงฟัน มีกลิ่นปาก เหงือกบวมเป็นหนอง รู้สึกว่าฟันยาวขึ้น ฟันห่างหรือมีฟันโยกร่วมด้วย ส่วนอาการปวดอาจพบได้เมื่อโรคมีอาการรุนแรงมากขึ้น  การรักษาทำโดยการกำจัดหินปูนและเกลารากฟัน  เพื่อให้ผิวรากฟันเรียบ  เป็นการกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่เกาะบนผิวรากฟันให้สะอาด ขั้นตอนนี้จะใช้เวลานาน โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ร่องเหงือกลึกๆ และฟันหลังที่มีหลายราก  ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะต้องทำหลายครั้ง  เมื่อรักษาเสร็จ ประมาณ 2 - 4 สัปดาห์จะนัดมาดูอาการอีกครั้ง  ถ้ายังมีร่องลึกปริทันต์เหลืออยู่อาจจำเป็นต้องผ่าตัด เพื่อแก้ไขกระดูกเบ้าฟันที่ถูกทำลายไป   ดังนั้นผู้สูบบุหรี่ที่มีปัญหาโรครำมะนาด จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากทันตแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพราะสุขภาพในช่องปากของผู้สูบบุหรี่จะไม่สะอาด  มีการสะสมของหินปูน และมีโอกาสเป็นโรครำมะนาดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่  จึงต้องให้ทันตแพทย์ขูดหินปูนเพื่อทำความสะอาดฟันทุกๆ 3-6 เดือน  ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดของการป้องกันไม่ให้โรครำมะนาดกลับมาอีก  คือ การดูแลรักษาความสะอาด ในช่องปากด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี และการใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน สิ่งสำคัญ คือ การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยลดความรุนแรงของโรครำมะนาดและช่วยให้ผลของการรักษาดีขึ้น  แต่ถ้ายังสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง โรคอาจลุกลามถึงขั้นทำให้สูญเสียฟันหมดทั้งปากได้ การเลิกสูบบุหรี่นอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมแล้ว ยังช่วยลดปัญหาสุขภาพในช่องปากและกลิ่นปากอีกด้วย ซึ่งวิธีลดกลิ่นปากนั้น ได้แก่ การทำความสะอาดลิ้น โดยใช้แปรงสีฟันแปรงจากโคนลิ้นมาปลายลิ้นด้านหน้า 3-4 ครั้ง ตอนเช้าตื่นนอน และหลังอาหารเย็นก่อนเข้านอน จะช่วยลดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นปากได้

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช